หญ้าเนเปียร์ พืชพลังงานสีเขียว

หญ้าเนเปียร์ พืชพลังงานสีเขียว พลังงานทดแทนที่น่าจับตามอง

หญ้าเนเปียร์ เป็นหญ้าเขตร้อน มีใบหนาและกว้าง ได้มีการนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยประมาณ 30 ปีมาแล้ว มีมากกว่า 130 สายพันธุ์ สายพันธุ์เดิมที่นิยมปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ หญ้าเนเปียร์ธรรมดา หญ้าเนเปียร์ยักษ์ (King Grass) และหญ้าเนเปียร์แคระ (Mott Dwarf Elephant Grass) เป็นหญ้าที่ดอกไม่ติดเมล็ด จึงไม่เป็นปัญหาการเป็นวัชพืช เกษตรกรปลูกไว้สำหรับเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง มีผลผลิตสูงเฉลี่ย 40 – 80 ตันสดต่อไร่ต่อปี และมีคุณค่าทางอาหารสูง เป็นพืชชอบแสงเต็มที่ ดินดี มีน้ำเพียงพอแต่ไม่ท่วมขัง การเตรียมดินและการปลูกเหมือนการปลูกอ้อย ปลูกครั้งเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้นานถึง 6 – 7 ปี ต่อมาสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ทำการวิจัยหญ้าที่เหมาะเป็นพืชพลังงาน จำนวน 20 ชนิด พบว่า หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เป็นสายพันธุ์ผสมที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างหญ้าเนเปียร์ยักษ์และหญ้าไข่มุก สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 5 – 6 ครั้ง ให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุดประมาณ 70 – 80 ตันสดต่อปีต่อไร่ ซึ่งมากกว่าหญ้าชนิดอื่น เกือบ 7 เท่า มีโครงสร้างสารอาหารเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดแก๊ส มีอัตราการผลิตก๊าซมีเทนสูงกว่าหญ้าชนิดอื่น โดยมีอัตราการผลิตก๊าซชีวภาพประมาณ  6,860 – 7,840 ลบ.ม./ไร่/ปี สามารถนำมาผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) มีค่าความร้อนประมาณ 14 – 18 MJ/kg ที่สามารถทดแทนก๊าช NGV ได้ประมาณ 3,118 - 3,563 กก./ปี เหมาะสมต่อการนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนมากกว่าหญ้าชนิดอื่น หญ้าเนเปียร์สดอายุประมาณ 60 วัน เมื่อทำการเก็บเกี่ยวและผ่านกระบวนการหมัก จะเกิดการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Digestion) ได้ผลผลิตเป็น ก๊าซชีวภาพ โดยหญ้าเนเปียร์สด 1 ตัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ 90 ลูกบาศก์เมตร เปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าประมาณ 170 กิโลวัตต์ต่อวัน

                เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ปรับเป้าหมายของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ในระยะเวลา 10 ปี (พศ. 2555 – 2564) ของประเทศไทย โดยมีเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้า จากหญ้าเนเปียร์ เท่ากับ 3,000 เมกะวัตต์ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ นำมาผลิตไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มหรือก๊าซชีวภาพสำหรับรถยนต์ จึงได้สนับสนุนโครงการศึกษา วิจัย ต้นแบบวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน (ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน) ด้วยการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างต้นแบบ 20% และมีงบประมาณดำเนินการทั้งโครงการ 350 ล้านบาท ระยะเวลา 54 เดือน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรทำการปลูกพืชพลังงาน และมีสัญญาซื้อขายกับโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งก๊าซชีวภาพที่ได้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ใน 3 รูปแบบ คือ ผลิตไฟฟ้า ผลิตเป็นก๊าซชีวภาพอัด (Compressed Bio Gas, CBG) หรือนำไปใช้แทนก๊าซแอลพีจี และให้มีการดำเนินโครงการต้นแบบในพื้นที่ปลูก 3 แบบ คือ พื้นที่แล้งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ปลูกข้าวไม่ได้มาตรฐาน มีการดำเนินการสร้างต้นแบบจำนวน 10 ชุมชน ใช้พื้นที่ปลูกหญ้าชุมชนละ 1,000 ไร่ ผลิตไฟฟ้าขนาด 1 MW ต่อแห่ง คิดจากการผลิตไฟฟ้าวันละ 24 ชั่วโมง จำนวน 330 วัน โดยเกษตรกรจะมีกำไรจากจากการปลูกพืชพลังงานในโครงการ อย่างน้อย 3,500 บาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งสูงกว่าการปลูกพืชไร่ และไม่มีความผันผวนด้านราคา หากพิจารณาทั้งโครงการจะมีการสนับสนุนให้ปลูกหญ้าจำนวน 10,000 ไร่ ได้ไฟฟ้า 10 MW ซึ่งจะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2557 หากต้องการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์จำนวน 3,000 MW ตามเป้าหมายแผน 10 ปี จะต้องปลูกหญ้าเนเปียร์ จำนวน 3 ล้านไร่ แต่ถ้าต้องการผลิตเป็นก๊าซชีวภาพอัดหรือนำไปใช้แทนก๊าซแอลพีจีด้วย จะต้องมีการส่งเสริมการปลูกเพิ่มขึ้น

รูป 1 ระบบการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานครบวงจรขนาด 1 MW

 

                รูปที่ 1 แสดงระบบการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานครบวงจรขนาด 1 MW สำหรับ 1 แห่ง โดยต้องการพื้นที่ปลูกหญ้า 800 – 1,000 ไร่ ได้ผลผลิต 35 – 40 ตันต่อไร่ต่อปี ประกันราคารับซื้อ 300 บาทต่อตัน นำหญ้ามาผสมกับ organic waste และ slurry หรือ manure ในถังเตรียม (Primary tank) แล้วส่งเข้าถังหมัก ที่รองรับหญ้าได้ 120 ตันต่อวัน ทำให้ได้ก๊าซชีวภาพวันละ 12,000 ลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ 30% นำไปผลิตไฟฟ้าได้วันละ 24,720 หน่วย ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะให้อัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff หน่วยละ 4.5 บาท และอีกประมาณ 70% นำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพอัด หรือนำไปใช้แทนก๊าซแอลพีจีต่อไป และน้ำทิ้งจากถังหมักจะเข้าไปสู่ถังน้ำทิ้ง (Effluent Storage) จะได้ปุ๋ยออกมาอีกวันละ 12 ตัน ราคาประมาณ 2,000 บาทต่อตัน

                การลงทุนจะประกอบด้วยกลุ่มเกษตรกรในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนหรือหรือสหกรณ์การเกษตร กับเอกชน หรือเจ้าของโรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ฝ่ายละ 50% เพื่อผลิตไฟฟ้า 1 MW ภายใต้เงินลงทุน 100 ล้านบาท โดย พพ. สนับสนุนไม่เกิน 20% หรือ 20 ล้านบาท มีรายได้จากขายไฟฟ้า 4.5 บาทต่อหน่วย ราคาปุ๋ย 2,000 บาทต่อตัน หากคิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 7.25 บาทต่อปี จะได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) เท่ากับ 12% มีระยะเวลาคืนทุน 6 ปี

รูป 2 การประเมินการลงทุนของเทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตไฟฟ้าจากหญ้าพลังงาน ขนาด 1 MW

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: