การดำเนินงานด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานของประเทศไทย

1.  ความเป็นมาของการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างไร

     โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programmed: UNEP) ร่วมกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) ได้จัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพื่อเตรียมมาตรการและกลยุทธ์ที่เป็นไปได้ในการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 IPCC ได้จัดทำรายงานมีข้อสรุปยืนยันว่ากิจกรรมต่างๆของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจริง ประกอบกับในปีนั้นได้มีการจัดการประชุม Second World Climate Conference ขึ้นจึงทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของนานาประเทศจากจุดเริ่มต้นดังกล่าวจึงเกิดการประชุมระดับนานาชาติขึ้นเพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐ (Intergovernmental Negotiating Committee) เพื่อดำเนินการจัดทำร่าง อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention  on Climate Change: UNFCCC และเปิดให้มีการลงนามรับรองอนุสัญญาฯ ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (United Nations Conference on Environment and Development :UNCED) หรือการประชุมสุดยอดโลก (Earth Summit) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2535 ณ กรุงริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิลอนุสัญญาฯ นี้มีความสำคัญ ในการเป็นกลไกเพื่อพัฒนาระบบการจัดการใช้ประโยชน์ของสภาพแวดล้อมโลกที่เหมาะสม และเป็นจุดศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างประเทศในการหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์

                IPCC ได้ศึกษาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งได้นำเสนอในรูปรายงานประเมินผลกระทบ (Assessment Report) ปัจจุบันมีผลการศึกษาแล้ว 4 ฉบับ ซึ่งในฉบับที่ 4 เป็นการนำเสนอที่ระบุตัวเลขการรักษาความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ 450 ppm และควบคุมการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิโลกไว้ที่ 2 องศาเซลเซียสข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้อ้างอิงในการเจรจาที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties to the UNFCCC: COP) ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการภายใต้อนุสัญญาฯโดยจะมีการประชุม COP ในราวเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม ของทุกปี โดยในครั้งล่าสุดครั้งที่ 18จัดขึ้นในปี2012ระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน – 7 ธันวาคม 2555 ณ เมืองโดฮา ประเทศการ์ตา

2.   ทำไมประเทศไทยต้องดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

      ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่
28 ธันวาคม พ.ศ. 2537  โดยอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้กับประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2538 หรือ 90 วันหลังจากให้สัตยาบัน และได้ลงนามพิธีสารเกียวโตเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2542  ต่อมาได้เข้าร่วมให้สัตยาบันในพิธีสารเกียวโต   เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2545   และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548 โดยประเทศไทยมีการดำเนินงานที่สนับสนุนอนุสัญญาฯ ใน 2 ลักษณะ คือ

                2.1 กิจกรรมตามพันธกรณี  ได้แก่ การจัดทำรายงานแห่งชาติเสนอต่อที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของประเทศไทยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งข้อมูลด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยประเทศไทยได้ทำรายงานแห่งชาติไปแล้ว
2 ครั้ง ฉบับที่ 1 เป็นรายงานแห่งชาติข้อมูลในปี ค.ศ. 1994 โดยส่งในปี ค.ศ. 2000และฉบับที่ 2 เป็นข้อมูลในปี ค.ศ.2000 โดยส่งในปี ค.ศ.2011

                2.2 กิจกรรมเพื่อสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับอนุสัญญาฯ   สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะประสานการดำเนินงานภายใต้อนุสัญญาสหประชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพของประเทศไทย
ได้จัดทํากรอบภารกิจ แผนแม่บทด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย และกิจกรรมสนับสนุนอื่นๆ ได้แก่  การจัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ขึ้นในปี 2007 ภายหลังการประชุม COP 3 ที่ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถดำเนินกิจกรรมด้านกลไกการพัฒนาที่สะอาด (CDM) และภายหลัง COP 15 สผ. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้ง ผู้ประสานงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Coordinator: CCC) จากหน่วยงานภาครัฐจำนวน 30 หน่วยงาน เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2552 เพื่อประสานและดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

  1. 3.   ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้างจากผลการประชุมเจรจาภายใต้อนุสัญญา UNFCCC

        ในอดีตที่ผ่านมาจะเน้นการดำเนินการตามพันธกรณีในพิธีสารเกียวโต ซึ่งกำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้วมีภาระในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยพันธกรณีแรก (1st Commitment period) ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระหว่างปี 2008 – 2012 โดยเฉลี่ยอย่างน้อย 5% เมื่อเทียบกับปี 1990 แต่จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาแนวโน้มจะมีการออกพันธกรณี หรือ ข้อสัญญาที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อประเทศสมาชิกทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2015 และให้มีผลบังคับใช้นับจากปี ค.ศ. 2020  ให้นั่นหมายถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยก็ต้องถูกบังคับให้ลดก๊าซเรือนกระจกด้วย มิใช่เป็นการลดแบบภาคสมัครใจในโครงการ CDM อย่างในอดีต

ดังนั้น ในช่วงเวลาระหว่างปี 2012 – 2015 จะเป็นช่วงเวลาที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องต่างๆ ดังนี้

-      ประเทศกำลังพัฒนาจะถูกผลักดันให้ทำรายงานแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยข้อมูลบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Biennial Update Report; BUR) ทุก 2 ปี ซึ่งอาจถูกทวนสอบโดยองค์กรระหว่างประเทศ (International Consultation and Analysis : ICA) จากเดิมที่ประเทศกำลังพัฒนาจะจัดทำก็ต่อเมื่อได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก Global Environment Facility (GEF) เท่านั้น

-      การจัดทำแผนการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ หรือ Nationally Appropriate Mitigation Actions; NAMAsซึ่งการดำเนินการ NAMAs นี้จะต้องควบคู่กับการตรวจสอบ รายงานผล และทวนสอบ (Measuring, Reporting and Verified: MRV)

-      พัฒนาให้เกิดตลาดคาร์บอน (Carbon Market) และกลไกสนับสนุนต่างๆ 

รูปที่ 1  แนวโน้มการดำเนินการออกพันธกรณีที่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อประเทศสมาชิกทั้งหมด

4.    กระทรวงพลังงานเกี่ยวข้องอย่างไรกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

      จากการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยใน SNC ล่าสุด พบว่าในปี 2000 ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดรวมของประเทศไทยในปี 2543 (ค.ศ. 2000) เมื่อรวมภาคการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่และป่าไม้แล้วเท่ากับ 229.08 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Tg CO2eq.) โดยภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสูดคิดเป็น 159.39 Tg CO2eq.หรือ 69.6% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของประเทศ รองลงมาคือภาคการเกษตร 51.88 Tg CO2eq.หรือ 22.6%ภาคกระบวนการอุตสาหกรรม 16.39 Tg CO2eq. หรือ 7.2%และภาคของเสีย 9.32 TgCO2eq. หรือ 4.10% ดังนั้นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานจึงมีความสำคัญและมีศักยภาพสูงในการดำเนินการ

อบก. ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการฯ ได้นำเสนอข้อมูลศักยภาพดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี) เป็นประธาน เพื่อพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติ ดังนี้

1) รับทราบและสนับสนุนให้นำข้อมูลศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศไทย ในภาคพลังงาน (สาขาผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และพลังงานจากขยะ) และภาคการขนส่ง ไปประกอบการพิจารณาจัดทำแนวทางการแสดงเจตจำนง (Pledge) การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMAs) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

2) เห็นชอบให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาจัดทำแนวทางการแสดงเจตจำนง (Pledge) การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMAs) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น จึงได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการจัดทำแนวทางการแสดงเจตจำนง (Pledge) การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMAs) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ตามเอกสารแนบ ซึ่งรองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมเป็นรองประธานในคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2556 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการแสดงเจตจำนง (Pledge) การดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ (NAMAs)