สถานการณ์น้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลของประเทศไทย

1. ข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำมันปาล์ม

                สถานการณ์ปาล์มน้ำมันในปี 2555 มีความผันผวนค่อนข้างมาก โดยในช่วงช่วงต้นปีมีการส่งออกมากเพราะหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าปาล์มน้ำมันจะมีผลผลิตออกมากตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีผลผลิตมากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ช่วงกลางปี 2555 กระทรวงพาณิชย์ขออนุมัติกรอบการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 40,000 ตัน  และได้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มในเดือน พฤษภาคม, สิงหาคม และ กันยายน 2555 รวมนำเข้าทั้งสิ้น 40,056 ตันโดยในช่วงปลายปี 2555 ผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก  ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีราคาตกต่ำ  ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อระบายสต็อคน้ำมันปาล์มภายในประเทศได้ และทำให้ระดับสต็อคน้ำมันปาล์มดิบในระบบมีสูงกว่า 3 แสนตันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สต็อคน้ำมันปาล์มอยู่ที่ 386,000 ตัน ในขณะที่ราคาผลปาล์มทะลายที่เกษตรกรขายได้มีราคาลดลงตามลำดับ โดยในเดือนเมษายน 2556 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.47 บาท/กก.                                

2. สถานภาพปัจจุบัน / สิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว

                2.1 กระทรวงพลังงานได้มีการประกาศใช้ไบโอดีเซล บี5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 55 ซึ่งได้มีการปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเป็นร้อยละ 3.5-5 ในช่วง 19 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2555 ก่อนที่จะกลับมาใช้ไบโอดีเซล บี5 ที่มีสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลร้อยละ 4.5-5 ซึ่งปัจจุบันเป็นอัตราส่วนผสมสูงสุดที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยอมรับและการันตีว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา                                                                                                                                                                         

                นอกเหนือจากการปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตามปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มแล้ว กระทรวงพลังงานได้พยายามอย่างที่สุดในการช่วยระบายน้ำมันปาล์ม โดยได้ขอให้โรงงานผลิตไบโอดีเซลต่างๆ สต็อกน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นสูงสุด  นอกจากนี้ยังได้ให้บริษัท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำรองน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มเติมอีกจำนวน 10,000 ตัน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้จัดทำแผนการใช้น้ำมันปาล์มดิบทดแทนการใช้น้ำมันเตาในสัดส่วนร้อยละ 10 ที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เสนอแผนดังกล่าวให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาเรื่องเงินชดเชยส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนคาดว่าจะสามารถช่วยระบายน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 ตัน                                                                                      

                2.2 ความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล

                จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 25 ในปี 2564 และจากข้อมูลพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ในปี 2555 ที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 4.5 ล้านไร่ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน การพัฒนาพันธ์ปาล์มน้ำมันและองค์ความรู้ในการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงพลังงานพยายามปรับแผนเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศและช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลที่แถลงต้อรัฐสภา ด้านการสร้างรายได้ตามข้อ 3.2.3 ในเรื่องของการส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและพลังงานทดแทนสามารถสร้างรายได้จากความต้องการภายในประเทศรวมถึงการสร้างงานให้แก่ประเทศ โดยถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาตร์ใหม่                                                                                                                                                              

                2.3 การดำเนินการในปัจจุบัน

                ปัจจุบันกำหนดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลไม่เกินร้อยละ 5 (บี5)  โดยมีการใช้ไบโอดีเซลเฉลี่ยประมาณ 2.42 ล้านลิตร/วัน กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ให้สูงขึ้นเป็น 6 ล้านลิตร/วัน ในปี 2564 โดยได้มีการเตรียมการและดำเนินการในหลายแนวทาง เช่น                                                                                                                                                                                     

               - การส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยี BHD ที่สามารถผสมในน้ำมันดีเซลได้สัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 5 (จากข้อมูลทางเทคนิคสามารถผสมได้สูงสุดถึงร้อยละ 20 โดยไม่มีต้องมีการปรับมาตรฐานน้ำมันดีเซล) ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเตรียมการและหารือกับผู้เกี่ยวข้อง  เป้าหมายเบื้องต้นส่งเสริมการจัดตั้งโรงงาน BHD ขนาด 1 ล้านลิตร/วัน อย่างน้อย 1 โรงงานในปี 2560                                                                                                                                                     

                - การเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลจากร้อยละ 5 (บี5) เป็น ร้อยละ 7 (บี7) ซึ่งมีข้อจำกัดที่ต้องทำความเข้าใจกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก่อนที่จะมีการนำไปใช้ เป้าหมายเบื้องต้นกำหนดบังคับใช้ บี7 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2557     

3. ปัญหาอุปสรรค

              3.1 การลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยี BHD ต้องใช้เงินลงทุนสูง                                              

               3.2 การส่งออกปาล์มไม่ได้มีการควบคุมซึ่งหากมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวนมากอาจมีผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้                                                                               

4. สิ่งที่จะทำต่อไป

                เร่งผลักดันการใช้ไบโอดีเซล บี7 เพื่อเป็นทางเลือกในการระบายน้ำมันปาล์มและลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้นและกำหนดรูปแบบการส่งเสริมการใช้ให้ชัดเจน เช่น การส่งเสริมการตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยี BHD ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการไว้ร้องรับอาจเกิดสถานการณ์น้ำมันปาล์มล้นตลาดและอาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน