กระทรวงพลังงานเร่งแก้ปัญหาปาล์มน้ำมันผันผวน

กระทรวงพลังงานเร่งประกาศใช้บี 7 และตั้งเป้าตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล BHD 1 ล้านลิตร/วัน 1 โรงในปี 2560 หวังลดความผันผวนสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมัน ถือเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไบโอดีเซลของประเทศไทย โดยในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา สถานการณ์ปาล์มน้ำมันมีความผันผวนมาก โดยในช่วงต้นปีปริมาณปาล์มน้ำมันมีจำนวนมากจึงได้มีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่พอช่วงกลางปีกลับต้องมีการนำเข้าแทน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้นำเข้าน้ำมันปาล์มรวม 40,056 ตัน ในขณะที่ช่วงปลายปีกลับมีผลผลิตปาล์มน้ำมันในประเทศออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากอีกครั้ง ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีราคาตกต่ำ  ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบเพื่อระบายสต็อคน้ำมันปาล์มภายในประเทศได้ และทำให้มีสต็อคน้ำมันปาล์มดิบในระบบสูงกว่า 3 แสนตันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เป็นต้นไป โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สต็อคน้ำมันปาล์มอยู่ที่ 386,000 ตัน ในขณะที่ราคาผลปาล์มทลายก็ลดต่ำลง

เพื่อเป็นการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กระทรวงพลังงานจึงได้ประกาศใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี5 คือ มีสัดส่วนของน้ำมันปาล์มดิบไม่เกินร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 และได้ปรับลดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเหลือร้อยละ 3.5-5 ในช่วง 19 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2555 และปรับสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 4.5-5 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นอัตราส่วนผสมสูงสุดที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยอมรับและการันตีว่าไม่มีผลกระทบต่อเครื่องยนต์

นอกเหนือจากการปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลตามปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มแล้ว กระทรวงพลังงานยังได้ขอให้โรงงานผลิตไบโอดีเซลต่างๆ สต็อกน้ำมันปาล์มและไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นสูงสุด  และได้ให้บริษัท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำรองน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มเติมอีกจำนวน 10,000 ตัน รวมถึงให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดทำแผนการใช้น้ำมันปาล์มดิบทดแทนการใช้น้ำมันเตาในสัดส่วนร้อยละ 10 ที่โรงไฟฟ้ากระบี่ เพื่อช่วยระบายน้ำมันปาล์มด้วย

ซึ่งแผนการดำเนินการดังกล่าวก็สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นร้อยละ 25 ในปี 2564 และจากข้อมูลพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในปี 2555 ที่มีพื้นที่ปลูกปาล์มประมาณ 4.5 ล้านไร่ ประกอบกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการส่งเสริมการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน การพัฒนาพันธุ์ปาล์มน้ำมันและองค์ความรู้ในการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กระทรวงพลังงานพยายามปรับแผนเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศและช่วยเหลือเกษตรกร

ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้มีการกำหนดสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซล บี5  โดยมีการใช้ไบโอดีเซลเฉลี่ยประมาณ 2.42 ล้านลิตร/วัน โดยในปี 2564 กระทรวงพลังงานมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลให้สูงขึ้นเป็น 6 ล้านลิตร/วัน โดยได้มีการเตรียมการดำเนินการหลายแนวทาง เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลจาก บี5 เป็น บี7 มีเป้าหมายที่จะบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2557 นี้

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยี BHD ที่สามารถผสมในน้ำมันดีเซลได้สัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 20 โดยไม่มีต้องมีการปรับมาตรฐานน้ำมันดีเซล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยตั้งเป้าหมายเบื้องต้นจะส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยี BHD ขนาด 1 ล้านลิตร/วัน อย่างน้อย 1 โรงงานในปี 2560  แต่การดำเนินงานยังมีปัญหาและอุปสรรค ในเรื่องของเงินลงทุนการลงทุนก่อสร้างโรงงานที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง  รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องการส่งออกปาล์ม ที่ขณะนี้ยังไม่มีการควบคุม เพราะหากมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวนมากอาจมีผลกระทบต่อปริมาณวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลได้

แน่นอนว่ามาตรการต่าง ๆ ที่กระทรวงพลังงงานดำเนินการนั้นก็เพื่อเป็นทางเลือกในการระบายน้ำมันปาล์มในประเทศในช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ช่วยลดความผันผวนของสถานการณ์น้ำมันปาล์ม รวมถึงยังเป็นการช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศด้วย

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: