ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานครบวงจร

ประเทศไทยเน้นส่งเสริมผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานครบวงจร เน้นหญ้าเนเปียร์ เพราะให้ก๊าซสูง 70-120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อตัน

การที่กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม เอทานอล แปรรูปอาหาร และฟาร์มปศุสัตว์ มีการผลิตก๊าซชีวภาพจากของเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ น้ำเสียหรือของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ตลอดจนชีวมวล และสิ่งเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งแค่นั้นอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูง

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงต้องเร่งหาแหล่งวัตถุดิบทางเลือกใหม่ ซึ่งก็คือพืชพลังงาน โดยปัจจุบันได้มีการนำพืชพลังงานประเภทหญ้าโตเร็ว มาเป็นทางเลือกหนึ่งในการนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ อาทิเช่น หญ้าเนเปียร์ หญ้าบาน่า ซึ่งพืชพลังงานเหล่านี้มีส่วน ประกอบของสารอินทรีย์ คือ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนในอัตราที่สูง สารอินทรีย์เหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการหมักย่อยในสภาวะไร้อากาศเพื่อช่วยเพิ่มความสมดุลของสารอาหารให้กับจุลินทรีย์ในระบบ  สามารถให้ผลผลิตหญ้าสูงถึง  80 ตันต่อไรต่อปี โดยหญ้าหมักสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ถึง 70-120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อตันหญ้าเนเปียร์ จึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาพลังงานก๊าซชีวภาพของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจข้อมูลพื้นที่ที่มีศักยภาพ อาทิเช่น พื้นที่นิคมพัฒนาตนเอง พื้นที่ที่ยังมิได้ใช้ประโยชน์หรือพื้นที่อื่นๆ  และได้รวบรวมการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานที่มีอยู่ในประเทศ และต่างประเทศ  รวมถึงรวบรวม แหล่งพืชพลังงานที่มีศักยภาพเหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพ ไม่น้อยกว่า 5 ชนิด และเปรียบเทียบข้อเด่น-ข้อด้อย พร้อมทั้งระบุเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพที่จะนำมาใช้กับพืชพลังงานนั้น  มีการจัดรวบรวมข้อมูลมารวมกับของ พพ. เพื่อให้สะดวกต่อการเรียกหาข้อมูล และเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูลต่าง  ๆ รวมถึงได้มีการเสนอแนะแนวทางการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแบบครบวงจรด้วย  ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อมูลแหล่งพืชพลังงานที่มีศักยภาพเหมาะสมในการผลิตก๊าซชีวภาพของประเทศ และแนวทางการส่งเสริมการผลิตและใช้ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานแบบครบวงจร

ทั้งนี้หากประเทศไทยมีการส่งเสริมให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานได้ครบวงจรมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยลดการใช้พลังงานอย่างฟอสซิลมากขึ้นด้วย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมีความชำนาญในการปลูกพืชอยู่แล้ว การใช้ประโยชน์จากพืชพลังงานจึงนับว่าเป็นการใช้ประโยชน์ที่คุ้มค่าทีเดียว

 

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: