พพ.ผลักดัน “สถานีผลิตพลังงาน”

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนแบบครบวงจร ต้นแบบ เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลระดับชุมชนไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ และส่งเสริมสร้าง “สถานีผลิตพลังงาน” เพื่อผลักดันให้พลังงานทดแทนเป็นไปตามเป้าหมาย

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนแบบครบวงจร เพื่อเป็นต้นแบบของการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลระดับชุมชนขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ให้กับพื้นที่อื่น ๆ  โดยได้ปรับปรุงระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลให้มีการใช้งานและดูแลรักษาที่ง่ายขึ้นพร้อมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับชาวบ้านที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลระบบด้วย รวมถึงควรมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานชีวมวล เพื่อคอยติดตามการดำเนินงานพัฒนาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลผลิตพลังงานในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด  ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่บานปลายจนเป็นเหตุให้เกิดการต่อต้านในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการใช้ชีวมวลแบบผลิตพลังงานก็ยังมีปัญหาอุปสรรค คือ ยังขาดข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งข้อมูลมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่ผู้ประกอบการก็ขาดความเชื่อมั่นในข้อมูลของภาครัฐ จึงไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ภาครัฐให้ไว้ รวมถึงยังมีปัญหาเรื่องการขึ้นราคาเชื้อเพลิงชีวมวล เพราะการผลิตพลังงานจากชีวมวล เป็นการนำของเหลือใช้จากวัสดุการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่า หากเชื้อเพลิงชีวมวลมีราคาสูงขึ้น จะทำให้ค่าการลงทุนระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลไม่คุ้มต่อการลงทุน และไม่สามารถแข่งขันกับตลาดเชื้อเพลิงฟอสซิลได้

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวมวลมากขึ้น ขณะที่ปริมาณชีวมวลไม่ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากพื้นที่การเกษตรมีจำกัด พฤติกรรมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกรโดยหันไปเพาะปลูกพืชที่มีราคาสูง ทำให้ยกเลิกการเพาะปลูกพืชชนิดเดิม ทำให้ไม่สามารถยืนยันปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะได้ในปีนั้น ๆ ว่าจะสามารถเพียงพอกับโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ชีวมวลเดิม หรือ โรงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งการประสบภัยพิบัติอันจะส่งผลให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย ซึ่งจะก่อให้เกิดการแย่งเชื้อเพลิงส่งผลให้เชื้อเพลิงมีราคาสูงในขั้นแรก และนำไปสู่การขาดแคลนเชื้อเพลิงได้

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือเรื่องการต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัญหาการต่อต้านของชุมชนในพื้นที่รอบโครงการ เป็นผลมาจากผู้พัฒนาโครงการละเลยการชี้แจงและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ประกอบกับเคร่งครัดในการดำเนินการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด โดยที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดใหญ่บางแห่งมีกำลังการผลิตไม่สอดคล้องกับศักยภาพชีวมวลและฐานทรัพยากรในท้องถิ่น รวมไปถึงมีโอกาสก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าโครงการขนาดเล็ก จึงทำให้ได้รับแรงต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ของโครงการค่อนข้างมาก

รวมทั้งปัญหาเรื่องเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีระบบค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยการคิดสังเกตในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินเครื่อง แต่เนื่องจากการส่งเสริมการผลิตพลังงานชีวมวลในระดับชุมชน ผู้รับผิดชอบระบบ ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้และดูแลรักษาระบบ ทำให้ระบบฯ ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้ ทำให้เข้าใจว่าการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตพลังงาน เป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป ขณะเดียวกันก็มีปัญหาขาดแคลนเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ในการลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการ และการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในแต่ละแห่ง

สุดท้ายคือปัญหาด้านกฎหมาย ขั้นตอน และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเข้ากับระบบสายส่งเพื่อจำหน่าย มาตรการจูงใจในปัจจุบัน เช่น ราคารับซื้อไฟฟ้า ยังไม่จูงใจเท่าที่ควร ผู้ประกอบกิจการเครื่องจักร อุปกรณ์ระบบผลิตพลังงานในประเทศมีจำกัด พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านแหล่งชีวมวล แต่มีข้อจำกัดด้านสายส่ง ดังนั้น การส่งเสริมการผลิตพลังงานชีวมวลตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี มุ่งส่งเสริมโรงไฟฟ้าระดับชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนการลงทุน ซึ่งการลงทุนโรงไฟฟ้าระดับชุมชนที่มีขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ จะมีเงินลงทุนค่อนข้างสูง และมีเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การส่งเสริมเป็นไปตามเป้าแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี จึงเร่งส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง โดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง “สถานีผลิตพลังงานชุมชน” มีการปรับมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนจากภาคเอกชนให้เหมาะสม มีการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการชีวมวล เร่งประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน ส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากชีวมวล เทคโนโลยีการแปรรูปเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็จะมีการจัดเก็บข้อมูลปริมาณผลผลิตทางการเกษตรให้มีความทันสมัยและจัดเก็บเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลชีวมวล วางแผนกำหนดปริมาณ พื้นที่ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Zoning) ศึกษาปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตพลังงาน และหาแนวทางแก้ไข ศึกษาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ เช่น ยอดอ้อย ใบอ้อย มาแปรรูปโดยการอัดเม็ด ก่อนทำการขนส่งไปยังโรงไฟฟ้าชีวมวล ปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อไอน้ำชีวมวลให้มีความเหมาะสมกับกำลังการผลิตและการใช้พลังงาน พัฒนาเทคโนโลยีชีวมวลให้มีความสะดวก ง่าย ไม่ซับซ้อน และมีหลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมใน  แต่ละพื้นที่ด้วย  ซึ่งหากรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ในอนาคตประเทศไทยก็จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวลแบบครบวงจรเพิ่มมากขึ้น ก็แน่นอนว่าจะช่วยลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: