การผลิตก๊าซชีวภาพในรูปแบบต่างๆ

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สนับสนุนการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลช้าง โครงการพัฒนาต้นแบบและสาธิตระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์สำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป และโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม

ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพมาแล้วกว่า 20 ปี โดยในช่วงเริ่มต้นจะจำกัดอยู่แต่ในระดับครัวเรือนหรือเกษตรกรรายย่อย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้สนับสนุนให้มีการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลช้าง โครงการพัฒนาต้นแบบและสาธิตระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์สำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป และโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.ระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลช้าง

ซึ่งเป็นโครงการภายใต้โครงการเฉลิมพระเกียรติ เพื่อสาธิตการใช้ประโยชน์จากพลังงานทดแทน ณ โรงช้างต้นและโรงเลี้ยงช้าง ของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ต.เรียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง โดยจัดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลช้าง ขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร 1 ระบบ ขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร 1 ระบบ ณ โรงช้างต้น และขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร 2 ระบบ ณ โรงเลี้ยงช้าง ภายในศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง รวมทั้งทำระบบต้นแบบให้กับปางช้างเอกชน จำนวน 7 ระบบ 6 ปางช้าง ดังนี้ หมู่บ้านช้างพัทยา ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จำนวน 2 ระบบ, แคมป์ช้างพัทยา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 1 ระบบ, ถิ่นช้างไทย ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี จำนวน 1 ระบบ, ปางช้างหัวหิน หลังวัดเขาอิติสุขโต อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 1 ระบบ, ปางช้างทวีชัย อ.เมือง จ.กาญจนบุรี จำนวน 1 ระบบ และ Home Stay ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง จำนวน 1 ระบบ

2.โครงการพัฒนาต้นแบบและสาธิตระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์สำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป

ได้มีการศึกษาและพัฒนาต้นแบบระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์สำเร็จรูปหรือกึ่งสำเร็จรูป จำนวน 4 รูปแบบ แล้วทาง พพ. ได้คัดเลือกเหลือ 2 แบบ คือ

1.แบบ พพ.1 (พญางิ้วดำ) เหมาะสำหรับฟาร์มที่มีปริมาณน้ำเสียไม่ต่ำกว่า 10 ลบ.ม./วัน เทียบเท่าสุกรขุน 500 ตัว ขนาดบ่อ 70 ลบ.ม. ปริมาณก๊าซชีวภาพที่ได้ 17.3 ลบ.ม./วัน ค่าก่อสร้างประมาณ 186,480 บาท พพ. ให้เงินสนับสนุน 50% ของค่าก่อสร้าง

2.แบบ พพ.2 (ตานี 1) เหมาะสำหรับฟาร์มที่มีปริมาณน้ำเสียไม่ต่ำกว่า 2 ลบ.ม./วัน ขนาดบ่อ 13 ลูกบาศก์เมตร ปริมาณก๊าซชีวภาพที่ได้ 5.3 ลบ.ม./วัน ค่าก่อสร้างประมาณ 130,868 บาท พพ. ให้เงินสนับสนุน 72% ของค่าก่อสร้าง

ซึ่งในปีงบประมาณ 2551 พพ. ได้ให้การสนับสนุนไปทั้งสิ้น 43 ฟาร์ม แบ่งเป็น แบบ พพ.1 จำนวน 18 ฟาร์ม และ แบบ พพ.2 จำนวน 25 ฟาร์ม แยกเป็น ฟาร์มสุกร 28 แห่ง ฟาร์มกระบือ 2 แห่ง ฟาร์มม้า 1 แห่ง ฟาร์มนกกระทา 1 แห่ง และฟาร์มโค 11 แห่ง

3. โครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียโรงงานอุตสาหกรรม

 เพื่อสาธิตติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเหมาะสม จำนวน 4 โรงงาน ที่น้ำเสียมีค่า COD ไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิกรัม/ลิตร และมีปริมาณมากพอที่จะทำให้ผลิตก๊าซชีวภาพได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ลบ.ม./วัน มีผลการดำการผลิตก๊าซชีวภาพได้วันละ 41,502 ลบ.ม./วัน หรือ 13,695,660 ลบ.ม./ปี  ซึ่งโรงงานที่เข้าร่วมโครงการได้แก่

1.บริษัท ไทยเปเปอร์มิลล์ จำกัด จ.ระยอง เป็นโรงงานกระดาษ มีปริมาณน้ำเสียจากกระบวนการผลิต 7,000 ลบ.ม./วัน (20 ลบ.ม./ตันผลผลิต) ได้ติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย แบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket) ได้ปริมาณก๊าซชีวภาพ 3,472 ลบ.ม./วัน นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงของ Boiler ร่วมกับเชื้อเพลิงขี้เลื่อย สามารถทดแทนขี้เลื่อยได้ 7.25% คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 1.97 ล้านบาท/ปี (340 วันทำงาน/ปี) โดยมีราคาค่าก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสีย 48.6 ล้านบาท และ พพ. สนับสนุน 6.22 ล้านบาท

รูป 3 ระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสียของ บริษัท ไทยเปเปอร์มิลล์ จำกัด

2.บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด จ.สระแก้ว เป็นโรงงานแป้งมันสำปะหลัง มีกำลังผลิตสูงสุด 250 ตันแป้ง/วัน มีปริมาณน้ำเสียจากการล้างแป้ง 4,000 ลบ.ม./วัน ได้ติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย แบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket) ได้ปริมาณก๊าซชีวภาพ 14,790 ลบ.ม./วัน นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับ Burner เพื่อทดแทนน้ำมันเตา ประมาณ 8,000 ลิตร/วัน คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 32.27 ล้านบาท/ปี  โดยมีราคาค่าก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสีย 50.83 ล้านบาท และ พพ. สนับสนุน 6.22 ล้านบาท

รูป 4 ระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสียของ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด

 

 

3.บริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด จ.สมุทรสาคร เป็นโรงงานกรดมะนาว มีกำลังผลิตสูงสุด 24 ตันกรดซิตริก/วัน ได้ติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย แบบ UASB (Upflow Anaerobic Sludge Blanket) ที่รองรับปริมาณน้ำเสียจากกระบวนการผลิต 600 ลบ.ม./วัน ได้ปริมาณก๊าซชีวภาพ 3,240 ลบ.ม./วัน นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 5,184 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/วัน เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงงาน คิดเป็นมูลค่าที่ประหยัดได้ 4.25 ล้านบาท/ปี โดยมีราคาค่าก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสีย 47.37 ล้านบาท และ พพ. สนับสนุน 6.22 ล้านบาท

รูป 5 ระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสียของ บริษัท ไทยซิตริก แอซิด จำกัด

4.บริษัท แป้งมันอิสาน จำกัด จ.นครราชสีมา เป็นโรงงานแป้งมันสำปะหลัง มีกำลังผลิตสูงสุด 350 ตันแป้ง/วัน มีปริมาณน้ำเสียจากการล้างหัวมันและแป้ง 5,000 ลบ.ม./วัน ได้ติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย แบบ HRAL (High Rate Anaerobic Lagoon) ได้ปริมาณก๊าซชีวภาพ 20,000 ลบ.ม./วัน นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับ Burner ทดแทนน้ำมันเตา ประมาณ 12,000 ลิตร/วัน คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้ 50.4 ล้านบาท/ปี โดยมีราคาค่าก่อสร้างระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสีย 40.66 ล้านบาท และ พพ. สนับสนุน 6.22 ล้านบาท

รูป 6 ระบบผลิตก๊าซชีวภาพและบำบัดน้ำเสีย ของ บริษัท แป้งมันอิสาน จำกัด

 

 

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: