“โซลาร์ รูฟท็อป” พลังงานทางเลือกดาวรุ่ง

รัฐบาลหนุนการผลิตไฟฟ้าจากโซล่ารูฟท็อป ปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม 200 เมกะวัตต์ พร้อมมีมาตรการจูงใจทั้ง Feed in tariff และมาตรการทางภาษีเพิ่มเติม มั่นใจส่งเสริมได้ตามเป้า

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ปิดรับสมัครการยื่นคำขอเพื่อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา หรือ โซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop) สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย และอาคารธุรกิจ หรือ โรงงานไปแล้ว ด้วยปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวม 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น บ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดติดตั้ง 0-10 กิโลวัตต์ จำนวน 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก -กลาง -ใหญ่ ที่ติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์ จำนวน 100 เมกะวัตต์   

โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าเป็นไปตามต้นทุนจริง หรือ Feed in tariff 25 ปี ราคา 6.16-6.96 บาทต่อหน่วยสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 6.96 บาทต่อหน่วย กำลังการผลิตไฟไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ธุรกิจขนาดเล็กผลิตไฟไม่เกิน 25 กิโลวัตต์ อยู่ที่ 6.55 บาทต่อหน่วย และธุรกิจขนาดกลาง และใหญ่อยู่ที่ 6.16 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาอุดหนุนค่าไฟทั้งสิ้น 25 ปี และอัตราดังกล่าวจะประกาศใช้ระหว่างปี 2556-2557 ซึ่งหากต้นทุนต่างๆ ลดลงอัตราดังกล่าวจะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทุกปี ซึ่งแผนส่งเสริมครั้งนี้จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพียง 0.50 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายใน 31 ธันวาคมนี้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง อาจเป็นการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการสนับสนุนทำได้หลายรูปแบบมากกว่ามาตรการภาษี เช่น สิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)       ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ภาคครัวเรือน และธุรกิจตัดสินใจง่ายขึ้นสำหรับการลงทุนติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป

โดยเฉพาะในภาวะที่ก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า มีแนวโน้มจะหมดจากอ่าวไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า พลังงานทดแทนอย่างแสงอาทิตย์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่สามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนหรือภาคธุรกิจ

นายบุญส่ง เกิดกลาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เชื่อว่าการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ รูฟท็อป จะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศลงได้ โดยมีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 70,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 27,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความสามารถผลิตไฟฟ้ามีเพียง 33,000 เมกะวัตต์ และตามเป้าหมายของรัฐบาลต้องการจะให้ครัวเรือน ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใช้เองด้วย และมีรายได้จากการขายไฟเข้าระบบ ผ่านการสนับสนุนมาตรการภาษี และอัตรารับซื้อไฟที่เหมาะสมเพื่อจูงใจให้หันมาติดตั้งกันมากขึ้น

ส่วนการส่งเสริมจะเป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลคาดไว้หรือไม่นั้น คงต้องมาดูกันว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมาสนับสนุนนั้น จูงใจเพียงพอหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็อย่าลืมว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ถือเป็นพลังงานสะอาด ใช้ได้ไม่มีวันหมดเลยทีเดียว               

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: