ไทยกับตุรกีกำลังแข่งขันกันในการเป็นผู้นำตลาดพลังงานแสงอาทิตย์

ประเทศไทยกำลังขับเคี่ยวอย่างสูสีกับตุรกีในการที่จะพัฒนาตัวเองเป็นตลาด photovoltaic (PV) พลังแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

IHS คาดว่าธุรกิจผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ของโลกจะโตจากตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดเล็ก ซึ่งคาดว่าการติดตั้ง PV จะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าของค่าเฉลี่ยการเติบโตของโลกในช่วงตั้งแต่ปี 2555 ถึง 2560

โดยทาง IHS  คาดว่าปริมาณการติดตั้งกำลังการผลิตในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่เหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10.9 gigawatts (GW) ในปี 2560 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมต่อปี (CAGR) ที่ 38% จาก 2.2 GW ในปี 2555

ในทางตรงข้าม ตลาดโลกโดยรวมคาดว่าจะมีอัตราการเติบโต CAGR  เพียงแค่ 13% เท่านั้น ทั้งนี้คาดว่าในปี 2560 ปริมาณการติดตั้งกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะคิดเป็นสัดส่วน 19% ของปริมาณการติดตั้งกำลังการผลิตของทั้งโลก เพิ่มขึ้นจากแค่ 7% ในปี 2555

              ตลาดสำหรับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ในบรรดาประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ HIS ทำการวิเคราะห์นั้น ประเทศไทยและประเทศตุรกีคาดว่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปีต่อๆ ไป โดยทั้งสองประเทศต่างก็มีศักยภาพในการที่จะติดตั้งกำลังการผลิตสะสมรวมเกือบ 3 GW ของระบบ PV ในช่วงเวลาดังกล่าว

                “ตลาดของประเทศไทยได้เริ่มมีการดำเนินการไปบ้างแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการให้ความสนับสนุนของภาครัฐ (adder scheme) ซึ่งรัฐบาลตกลงที่จะจ่ายเงินอุดหนุนตามปริมาณการผลิตที่ส่งเข้าระบบในรูปของ feed-in premiums ให้กับผู้ผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ในทางกลับกัน ตลาดตุรกียังคงอยู่ในขั้นตอนที่กำลังมุ่งไปสู่วิถีของการเติบโต โดยในเดือนมิถุนายน มีการยื่นขออนุญาตดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อย่างถล่มทลายเกินกว่าปริมาณการผลิตที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 600 megawatts (MW) อย่างมหาศาล ซึ่งส่งผลให้กระบวนการในการออกใบอนุญาตต้องล่าช้าออกและทำให้การติดตั้งกำลังการผลิตต้องถูกเลื่อนออกไปเป็นปลายปี 2557 หรือปี 2558 แทน”

                อย่างไรก็ตาม IHS มองว่าตลาดของการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในตุรกีน่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในปี 2557 จนถึง 300 MW และคาดว่าอุปสงค์เฉลี่ยต่อปีของ PV จะไต่ขึ้นไปจนถึง 1 GW ภายในปี 2560 “ตลาดใหม่ๆ สำหรับ  PV พลังแสงอาทิตย์กำลังเติบโตขึ้นทั่วทั้งโลก จากการสร้างแรงจูงใจของรัฐบาลประเทศต่างๆ ซึ่งได้แก่การเปิดโอกาสให้มีการทำสัญญากับผู้ผลิตรายใหญ่ การให้เงินอุดหนุนในลักษณะ feed-in-tariff และการให้ความสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง” Josefin Berg นักวิเคราะห์อาวุโสด้าน PV ของ IHS กล่าว

“ถึงแม้บางครั้งตลาดเหล่านี้จะมีอุปสรรคใหญ่อย่างเช่น ข้อจำกัดด้านการเงิน กฎเกณฑ์ที่คลุมเครือและไม่แน่นอน แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ตลอดช่วงสายโซ่อุปทานต่างก็สามารถได้ประโยชน์จากการมุ่งเป้าไปที่ตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วเหล่านี้”

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: