ศักยภาพการผลิตพลังงานจากขยะเชิงพื้นที่

ศักยภาพการผลิตพลังงานจากขยะเชิงพื้นที่

 

1. ศักยภาพและพื้นที่ในการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากขยะ

                            ในปี 2556- 2557 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ดำเนินการศึกษา พัฒนา และปรับปรุงระบบฐานข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะ เพื่อให้ทราบถึงปริมาณของขยะมูลฝอยที่มีอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ ทั้งที่มีการนำไปใช้ประโยชน์แล้วและยังไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ศักยภาพในการนำขยะมาผลิตพลังงาน รวมถึงการนำขยะไปใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานในปัจจุบัน เพื่อให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการศึกษาก่อนตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบกิจการภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการส่งเสริมการผลิตพลังงานขยะต่อไป โดยการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วย การศึกษารวบรวมข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ปริมาณขยะที่ใช้ผลิตพลังงานแล้ว และปริมาณขยะเหลืออยู่จริงในพื้นที่  การวิเคราะห์และสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากขยะ รวมทั้งการพัฒนาปรับปรุงฐานข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะให้มีความทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน เป็นต้น โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้แสดงไว้ในฐานข้อมูลศักยภาพพลังงานทดแทนบนเวปไซต์ของ พพ. (www.dede.go.th)  

                          1) ปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ

ผลการประเมินปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ซึ่งประมาณการโดยใช้ข้อมูลจำนวนประชากรของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2556 คูณด้วยอัตราการเกิดขยะมูลฝอยของแต่ละพื้นที่ ดังนี้คือ เทศบาลนคร 1.89 (กก./คน/วัน) เทศบาลเมือง 1.15 (กก./คน/วัน) เทศบาลตำบล 1.02 (กก./คน/วัน) องค์การบริหารส่วนตำบล 0.91 (กก./คน/วัน) และเมืองพัทยา 3.9 (กก./คน/วัน) (กรมควบคุมมลพิษ, 2554) พบว่า ในปี 2556 มีปริมาณขยะชุมชนที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) เท่ากับ 20.715 ล้านตัน หรือเท่ากับ 56,753 ตันต่อวัน ส่วนปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร จากการประมาณการของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าเท่ากับ 4.137 ล้านตัน หรือประมาณ 11,334 ตันต่อวัน

หมายเหตุ: จาก (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) ของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรกฎาคม 2558) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายว่า ขยะมูลฝอยเกิดขึ้นในปี 2557 ประมาณ 26.19 ล้านตัน และมีอัตราการเกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ยต่อคนต่อวัน เท่ากับ 1.11 กิโลกรัม/คน/วัน โดยมีจังหวัดที่มีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นสูงสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (10,870 ตัน/วัน) นครราชสีมา (2,264 ตัน/วัน) สมุทรปราการ (2,025 ตัน/วัน) ชลบุรี (1,957 ตัน/วัน) ขอนแก่น (1,829 ตัน/วัน) เชียงใหม่ (1,698 ตัน/วัน) อุดรธานี (1,622 ตัน/วัน) นนทบุรี (1,617 ตัน/วัน) สงขลา (1,604 ตัน/วัน) และบุรีรัมย์ (1,553 ตัน/วัน) โดยประสิทธิภาพการเก็บขนขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นและขนส่งไปกำจัดขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานครมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้น 10,800 ตัน/วัน เก็บขนและกำจัดได้ 9,200 ตัน/วัน เป็นต้น

                         2) ขยะมูลฝอยที่ใช้ผลิตพลังงานแล้ว และปริมาณขยะที่เหลืออยู่จริงในพื้นที่

ในการดำเนินการศึกษาโครงการศึกษาปรับปรุงข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะ ผลการศึกษาปริมาณขยะมูลฝอยที่ใช้ผลิตพลังงานแล้ว มาจากการรวบรวมข้อมูลจากแบบสอบถามเทศบาลทั่วประเทศ ประกอบกับการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ส่วนผลการศึกษาปริมาณขยะที่เหลืออยู่จริงในพื้นที่ หรือปริมาณขยะที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตพลังงานสำหรับแต่ละพื้นที่ คำนวณจากปริมาณขยะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บขนได้และนำไปกำจัด ลบด้วยปริมาณขยะที่ใช้ผลิตพลังงานแล้วของแต่ละพื้นที่ สำหรับ อปท. ที่ไม่มีการจัดเก็บและ/หรือกำจัดขยะ รวมทั้ง อปท. ที่ไม่มีข้อมูลปริมาณขยะที่จัดเก็บได้และนำไปกำจัดนั้น ประมาณการปริมาณขยะที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตพลังงาน เท่ากับร้อยละ 50 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่

                                      ซึ่งโดยสรุปพบว่า ในปี 2556 มีปริมาณขยะที่ใช้ผลิตพลังงานแล้วทั่วประเทศ 3,186 ตันต่อวัน และยังคงมีปริมาณขยะที่เหลืออยู่จริงในพื้นที่ หรือปริมาณขยะที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตพลังงาน รวม 33,355 ตันต่อวัน

                         3) ศักยภาพในการผลิตพลังงานจากขยะชุมชนรายจังหวัด

ตารางที่ 1 แสดงปริมาณขยะที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตพลังงาน และศักยภาพพลังานขยะ เป็นรายจังหวัด ซึ่งมีที่มาจากการคำนวณโดยกำหนดให้ ปริมาณขยะที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงาน 70 ตันต่อวัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 MW ซึ่งการคำนวณศักยภาพพลังงานขยะในรูปของศักยภาพการผลิตไฟฟ้าข้างต้น เป็นเพียงประมาณการศักยภาพของพลังงานขยะของประเทศในภาพรวมเท่านั้น ทั้งนี้การผลิตพลังงานจากขยะ หรือการแปรรูปขยะเป็นไฟฟ้านั้นจะต้องขึ้นกับความเหมาะสมหลายประการ เช่น ปริมาณและองค์ประกอบขยะ ความพร้อมของพื้นที่/สายส่งไฟฟ้า และความเหมาะสมทางด้านการลงทุน  เป็นต้น

ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 2557.

หมายเหตุ: การประมาณการศักยภาพพลังงานขยะในรูปของศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าในตาราง เป็นเพียงการประมาณการศักยภาพพลังงานขยะทั่วประเทศในภาพรวมเท่านั้น โดยการผลิตพลังงานจากขยะ และการผลิตไฟฟ้าจากขยะจะต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ เช่น การรวมกลุ่มพื้นที่ฯ ปริมาณและองค์ประกอบขยะ ความพร้อมของระบบสายส่งไฟฟ้า และความเหมาะสมด้านการลงทุน เป็นต้น

                            4) ผลการศึกษาวิเคราะห์พื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากขยะ

                                      ในการดำเนินโครงการศึกษาปรับปรุงข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะ การวิเคราะห์พื้นที่หรือแหล่งขยะชุมชนที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากขยะ พิจารณาจากหลักเกณฑ์เบื้องต้น และหลักเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งสรุปได้ดังนี้

                                      เกณฑ์เบื้องต้น

-       พื้นที่/แหล่งขยะชุมชนต้องเป็นเทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด

-       มีปริมาณขยะที่กำจัด ตั้งแต่ 30 ตันต่อวันขึ้นไป ซึ่งรวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่ดำเนินการในลักษณะของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยที่มีปริมาณขยะของ อปท. เอง และ อปท./หน่วยงานอื่น ซึ่งนำไปกำจัดร่วม รวมตั้งแต่ 30 ตันต่อวัน ขึ้นไป (ซึ่งข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2557 พบว่า ทั่วประเทศมีจำนวน 173 แห่ง)

-       ในขณะที่ทำการศึกษาฯ ยังไม่มีการก่อสร้างหรือเดินระบบผลิตพลังงานจากขยะ หรือทำสัญญากับภาคเอกชนในการดำเนินโครงการผลิตพลังงานจากขยะ (ยกเว้นโครงการขนาดเล็กซึ่งรองรับขยะของ อปท. ได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของปริมาณขยะที่ อปท. ต้องกำจัด)

-       มีสถานที่กำจัดขยะเป็นของตนเอง โดยการเป็นเจ้าของ การเช่าในระยะยาว การได้รับอนุญาตหรือมีข้อตกลงให้ใช้พื้นที่จากหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น และมีขนาดพื้นที่สามารถติดตั้งระบบผลิตพลังงานจากขยะได้

                                      เกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งพิจารณาจาก

                                      -     ปริมาณขยะชุมชนที่กำจัด

                                      -     พื้นที่สำหรับกำจัดขยะมูลฝอย

                                      -     ความพร้อมของ อปท. ในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เช่น การดำเนินกิจกรรมลด คัดแยก และใช้ประโยชน์จากขยะมูลฝอย ประสิทธิภาพในการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยในปัจจุบัน ความสนใจและนโยบายในการนำขยะมาผลิตพลังงานของท้องถิ่น เป็นต้น

                                      ซึ่งผลการวิเคราะห์จัดลำดับพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากขยะ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีขยะกำจัดมากกว่า 50 ตันต่อวัน และกลุ่มที่มีขยะกำจัดน้อยกว่า 50 ตันต่อวัน กลุ่มละ 15 ลำดับ ตามที่ระบุในข้อกำหนดและเงื่อนไขการศึกษา ตารางที่ 2 ถึง 3

หมายเหตุ: * มี อปท. ที่ได้รับการจัดลำดับอยู่ในลำดับที่ 15 จำนวน 2 แห่ง

ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. 2557.

ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. 2557.

                                     ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการศึกษาปรับปรุงข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะ ได้มีการลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานจากขยะซึ่งได้รับการจัดลำดับทั้ง 31 แห่ง ดังตารางที่ 2  ถึง  3 ในด้านต่างๆ เพิ่มเติม ได้แก่

            -       ปริมาณขยะที่ต้องกำจัด

            -       โครงสร้างการบริหารงานด้านการจัดการขยะมูลฝอย

            -       รายรับ-รายจ่ายด้านการจัดการขยะมูลฝอย

            -       พื้นที่ติดตั้งระบบผลิตพลังงานจากขยะ/พื้นที่กำจัดขยะมูลฝอยในปัจจุบัน ความพร้อมของพื้นที่ เช่น ขนาดพื้นที่สำหรับติดตั้งระบบฯ ถนนทางเข้าพื้นที่ แหล่งน้ำดิบ และระยะห่างจากสายส่งไฟฟ้า

            -       ความคิดเห็นของผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในการจัดการขยะมูลฝอย

            -       ความคิดเห็นของประชาชนในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ตั้งโครงการ

                                      ซึ่งผลการศึกษาได้นำเสนอไว้ในรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาปรับปรุงข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะ ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (2557)

2. Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของกรมควบคุมมลพิษ

                            ตารางที่ 4 แสดง Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่  26 สิงหาคม 2557  ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

                            Roadmap ประกอบด้วยขั้นตอนการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย 4 ขั้นตอน คือ

               1) การกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤต (ขยะเก่า)  

               2) การสร้างรูปแบบการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่เหมาะสม (ขยะมูลฝอยใหม่) โดยเน้นการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง จัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม การกำจัดโดยเทคโนโลยีแบบผสมผสานซึ่งเน้นการแปรรูปเป็นพลังงานหรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

               3) การวางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย

               4) การสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน โดยการให้ความรู้ประชาชน และบังคับใช้กฎหมาย

                            ซึ่งกำหนดระยะเวลาดำเนินการคือ ระยะเร่งด่วน (6 เดือน) ระยะปานกลาง (1 ปี) และระยะยาว (1 ปีขึ้นไป)

                            โดยในระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี มีเป้าหมายการดำเนินการ คือ

                            1) การจัดการขยะเก่าได้ 22 ล้านตัน ได้รับการแก้ไข

                            2)มีศูนย์กำจัดขยะที่แปรรูปเป็นพลังงานอย่างน้อย 15 แห่ง

                            3) มีการแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป

                            4) มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการจัดการขยะ

                          และคาดหวังผลสัมฤทธิ์คือ

                            1) การจัดการขยะเก่าได้ 22 ล้านตัน หรือ 80%

                            2) ขยะมูลฝอยของประเทศได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

                            3) ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนและสภาพแวดล้อม

                            4) เป็นความมั่นคงทางพลังงาน และเศรษฐกิจและสังคม

(ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ. Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย. [อินเทอร์เน็ต]. 2557 [สืบค้นเมื่อ 16 ก.ค. 2558]. สืบค้นจาก

http://infofile.pcd.go.th/waste/Roadmapbook.pdf?CFID=6502514&CFTOKEN=44897540)

Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ฉบับผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

หมายเหตุ เกี่ยวกับการผลิตพลังงานจากขยะและพื้นที่เป้าหมายดำเนินการตาม Roadmap ของกรมควบคุมมลพิษ

1) การกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่วิกฤติ 6 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครปฐม จ.สระบุรี จ.ลพบุรี จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ พบว่ามีโครงการนำขยะมูลฝอยตกค้างสะสมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยไปผลิตเป็นพลังงานที่ดำเนินการ ได้แก่

            (1) จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณขยะเก่าสะสม 224,000 ตัน (ทต.นครหลวง 68,000 ตัน /ทน.พระนครศรีอยุธยา 160,000 ตัน /ทม.เสนา 96,000 ตัน) โดยนำไปกำจัดที่โรงปูนเอกชน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน งบประมาณ 134,424,900 บาท

            (2) จ.สระบุรี ปริมาณขยะเก่าสะสม 140,000 ตัน ของ ทม.พระพุทธบาท โดยนำไปผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) โดยบริษัทเอกชน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี งบประมาณ 4,865,100 บาท

            (3)จ.ลพบุรี ปริมาณขยะเก่าสะสม 153,000 ตัน (ทม.ลพบุรี 80,000 ตัน/ทต.เขาสามยอด 27,000 ตัน /อบต.โคกสลุง 24,000 ตัน /ทต.ลำนารายณ์ 22,000 ตัน) นำไปกำจัดที่โรงปูนเอกชน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยบริษัทเอกชน ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน งบประมาณ 62,894,700 บาท

2)     คาดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความพร้อมและความสามารถแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างน้อย 15 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2559                 

             3 พื้นที่ศักยภาพในการผลิตพลังงานจากขยะ ตาม (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564)

                            กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2557 และสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายในภาพรวมของประเทศ และบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยมีแนวคิดในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายที่สำคัญ คือ ลดการเกิดของเสียหรือขยะมูลฝอยที่แหล่งกำเนิด นำของเสียกลับมาใช้ซ้ำและใช้ประโยชน์ใหม่ รวมทั้งลดปริมาณการเกิดขยะมูลฝอยเพื่อให้เกิดการจัดการขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน ส่วนขยะมูลฝอยที่เหลือจากการคัดแยกนำไปใช้ประโยชน์ใหม่ จะส่งเสริมให้นำไปแปรรูปผลิตพลังงานโดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจมาลงทุน

                            โดยแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดและใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอยฯ  แนวทางหนึ่ง คือ การจัดให้มีศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster) ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อสร้างระบบจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน เน้นการนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ เช่น ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ก๊าซชีวภาพ แปรรูปผลิตพลังงาน เป็นต้น โดยการแบ่งกลุ่มพื้นที่ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขนาด ดังต่อไปนี้

(1)    กลุ่มพื้นที่ขนาดใหญ่ (Model L) เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีเทศบาลนคร เทศบาลเมืองหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกันมากกว่า 300 ตัน/วัน/กลุ่มพื้นที่ และรัศมีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยไม่เกิน 50 กิโลเมตร

(2)    กลุ่มพื้นที่ขนาดกลาง (Model M) เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ ชุมชนขนาดกลาง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีเทศบาลเมืองเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกันอยู่ระหว่าง 50 – 300 ตัน/วัน/กลุ่มพื้นที่ และรัศมีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยไม่เกิน 50 กิโลเมตร

(3)    กลุ่มพื้นที่ขนาดเล็ก (Model S) เป็นพื้นที่ชุมชนขนาดเล็ก หรืออยู่ห่างไกลที่ต้องดำเนินการจัดการกำจัดขยะในพื้นที่/จัดการเบื้องต้นก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีเทศบาลตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน มีปริมาณขยะมูลฝอยรวมกันน้อยกว่า 50 ตัน/วัน/กลุ่มพื้นที่ และรัศมีการเก็บรวบรวมขยะมูลฝอยไม่เกิน 30 กิโลเมตร

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพิจารณากำหนดกลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Cluster) เพื่อรองรับการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม และการยอมรับของประชาชน

โดยการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมและรับกำจัดขยะมูลฝอยที่เหลือจากการคัดแยกและนำไปใช้ประโยชน์แล้วจากท้องถิ่นในพื้นที่และใกล้เคียง โดยมีรูปแบบ ดังนี้

(1)    รูปแบบ Model L รองรับปริมาณขยะมูลฝอย ตั้งแต่ 300 ตัน/วัน ขึ้นไป

         จัดทำระบบการจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน นำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และ/หรือแปรรูปขยะมูลฝอยไปเป็นพลังงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และขยะมูลฝอยที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ นำไปกำจัดโดยการฝังกลบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และส่งเสริมภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจลงทุนหรือร่วมลงทุน

(2)    รูปแบบ Model M รองรับปริมาณขยะมูลฝอย ตั้งแต่ 50 – 300 ตัน/วัน

จัดทำระบบการจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน อาทิ ทำปุ๋ย หรือแปรรูปเป็นพลังงาน เช่น ก๊าซชีวภาพ ผลิตกระแสไฟฟ้า และขยะมูลฝอยที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ นำไปกำจัดโดยการฝังกลบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และส่งเสริมภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจลงทุนหรือร่วมลงทุนตามความเหมาะสม

(3)    รูปแบบ Model S รองรับปริมาณขยะมูลฝอย น้อยกว่า 50 ตัน/วัน

จัดทำระบบการจัดการขยะมูลฝอยแบบผสมผสาน โดยนำขยะมูลฝอยที่เหลือจากการคัดแยกไปฝังกลบและ/หรือ นำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกไปใช้ประโยชน์อื่น อาทิ ทำปุ๋ย

               1) พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อแปลงเป็นพลังงาน

พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อแปลงเป็นพลังงาน คือพื้นที่ที่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะมูลฝอย โดยเป็นกลุ่มพื้นที่ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่ระบบมากกว่า 300 ตัน/วัน ซึ่งพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมเพื่อแปรรูปเป็นพลังงานในเบื้องต้น (ตารางที่ 2-4) ปัจจุบันเปิดดำเนินการเตาเผาขยะมูลฝอยและพลังงานแล้ว จำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 25.7 เมกกะวัตต์ พื้นที่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 3 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลแม่ขรี จังหวัดพัทลุง และองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 15.8 เมกกะวัตต์ และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับภาคเอกชน ทั้งนี้ พื้นที่ศักยภาพบางแห่งหากยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยได้โดยตรง สามารถคัดแยกขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF และส่งไปขายเพื่อผลิตไฟฟ้าได้ โดยหากสามารดำเนินการในพื้นที่ศักยภาพฯ ดังกล่าว จะสามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้อย่างน้อย 23,578 ตัน/วัน หรือร้อยละ 32.86 ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 71,753 ตัน/วัน ผลิตไฟฟ้าได้ 325.11 เมกกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีความพร้อมและความสามารถแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างน้อย 15 แห่ง ภายในปี พ.ศ. 2559 โดยมีภาคเอกชน/รัฐวิสาหกิจลงทุนหรือร่วมลงทุน ทั้งนี้ จังหวัด/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการในพื้นที่อื่นนอกเหนือจากพื้นที่ศักยภาพฯ 53 แห่ง ได้หากเห็นว่ามีความเหมาะสม และหากเอกชน/รัฐวิสาหกิจมีความพร้อมเข้ามาลงทุนหรือร่วมลงทุน และมีความพร้อมด้านพื้นที่หรือสายส่งไฟฟ้า

2) พื้นที่ที่มีศักยภาพในการแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเชื้อเพลิง RDF

พื้นที่ที่มีศักยภาพในการแปรรูปขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเชื้อเพลิง RDF ในเบื้องต้น มีจำนวน 90 แห่ง (ตารางที่ 2-5) ทั้งนี้หากสามารถดำเนินการในพื้นที่ศักยภาพฯ ดังกล่าวได้ทั้ง 90 แห่ง จะสามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้ 16,764 ตัน/วัน หรือร้อยละ 23.36 ของขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้น 71,753 ตัน/วัน

                                      (ที่มา: (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรกฎาคม 2558. สืบค้นจาก

http://www.pcd.go.th/Info_Serv/File/RoadmapWaste_sem03.pdf)

หมายเหตุ:  พื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อแปลงเป็นพลังงาน คือ พื้นที่ที่มีความพร้อมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากการแปรรูปขยะมูลฝอย โดยเป็นกลุ่มพื้นที่ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเข้าสู่ระบบมากกว่า 300 ตัน/วัน

ที่มา: (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรกฎาคม 2558. สืบค้นจาก

http://www.pcd.go.th/Info_Serv/File/RoadmapWaste_sem03.pdf)

ที่มา: (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. กรกฎาคม 2558. สืบค้นจาก

http://www.pcd.go.th/Info_Serv/File/RoadmapWaste_sem03.pdf)

 

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: