การผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ตัวช่วยหลักของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2015

การผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย

ตัวช่วยหลักของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP 2015

   

                            ในรอบปี พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมาโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยสามารถผลิตชานอ้อยเพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงเข้าสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าได้สูงถึง 2,710 กว่าล้านหน่วยตามบันทึกปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้า ดังแสดงในตารางที่ 1 โดยมีสัญญาขายไฟทั้งหมด 896.82 MW  (ข้อมูลเมื่อ 28/11/2558;  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน) จากสถานภาพการพัฒนาพลังงานทดแทนจากชีวมวลในการผลิตไฟฟ้าที่ดำเนินการในปี พ.ศ. 2557 ทั้งหมด 2,451.82MW (ข้อมูลจากแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579, กันยายน 2558 หน้า 2)หรือเทียบเป็นสัดส่วนระหว่าง ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากเชื้อเพลิงชานอ้อย ต่อ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากซีวมวล1 ต่อ 2.73 หรือคิดเป็นร้อยละ 36.58

                            ตารางที่ 1 แสดงกำลังการผลิตติดตั้ง-สัญญาขายไฟฟ้า และปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงชีวมวลชานอ้อย

                                                                  *ที่มา: http://www.erc.or.th/ERCWeb2/Default.aspx  คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

                            ดังนั้นอ้อยจึงนับเป็นแหล่งพืชพลังงานทดแทนที่สำคัญชนิดหนึ่ง ประเทศไทยของเราจึงมีแหล่งพลังงานจากธรรมชาติประเภทที่สร้างทดแทนใหม่ได้เป็นประจำทุกปี

                            ดังที่เคยกล่าวไว้ในบทความตอนที่ 1 “สถานภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชานอ้อย” ว่าโรงงานน้ำตาลแบ่งฤดูการทำงานตามฤดูของการปลูกอ้อย แบ่งช่วงการทำงานเป็น 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูเปิดหีบอ้อยฤดูละลายและฤดูซ่อมบำรุงฤดูเปิดหีบอ้อย มีระยะเวลายาวนานประมาณ 4-5 เดือน ระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมของทุกปี  เป็นช่วงเวลาแปรสภาพอ้อยให้เป็นน้ำตาลในฤดูนี้จะมีน้ำตาลบางส่วนที่จะถูกเก็บไว้เพื่อดำเนินการผลิตต่อในฤดูที่ 2 ซึ่งก็คือ ฤดูละลาย ฤดูนี้มีระยะเวลายาวนานประมาณ 3-4 เดือน ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีกิจกรรมหลักคือ นำน้ำตาลทรายดิบที่ผลิตได้ในฤดูหีบนำมาละลายแล้วดำเนินการผลิตน้ำตาลทราย ไม่มีการหีบอ้อยในฤดูนี้สำหรับในช่วงเดือนที่เหลือก่อนการเปิดหีบครั้งต่อไป โรงงานน้ำตาลต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อการผลิตในฤดูเก็บเกี่ยวถัดไป หรือฤดูที่ 3 ฤดูซ่อมบำรุง โรงงานจะดำเนินการซ่อมแซมเครื่องจักรทั้งหมดเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิต ตลอดทั้งปีโดยไม่มีการหีบอ้อยเช่นเดียวกันกับฤดูละลาย

                            ฤดูการทำงานของโรงงานน้ำตาลทั้ง 3 ฤดู มีรูปแบบของปริมาณความต้องการของการผลิตความร้อนในรูปแบบไอน้ำและพลังงานไฟฟ้าที่แตกต่างกันและอุตสาหกรรมน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องการพลังงานสูงเพื่อใช้ในการผลิตโดยเฉพาะพลังงานความร้อน   ดังนั้นในช่วงฤดูการผลิตทั้ง 3 ฤดูของโรงงานน้ำตาลจึงมีปริมาณความต้องการการใช้พลังงานและคุณลักษณะการผลิตพลังงานจากชานอ้อยที่แตกต่างกันอย่างมาก

                            ฤดูเปิดหีบอ้อยเป็นช่วงเวลาการเกิดชานอ้อย   เป็นที่ทราบดีว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวอ้อยที่ปลูกโดยชาวไร่อ้อยฤดูนี้จึงเป็นฤดูที่จะมีปริมาณชานอ้อยเกิดขึ้นเป็นปริมาณมากซึ่งเกิดจากกระบวนการหีบอ้อยเพื่อให้ได้น้ำอ้อย  ปริมาณการเกิดชานอ้อยเฉลี่ยที่ร้อยละ 27-30 ของปริมาณอ้อยสดที่ถูกหีบ  ปัจจุบันโรงงานน้ำตาลทุกแห่งได้ทำการพัฒนาเพื่อนำชานอ้อยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด  มีการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าเพื่อการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์รวมทั้งมีการบริหารจัดการปริมาณชานอ้อยที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ  ให้สามารถนำมาใช้ได้ตลอดทั้งปีเมื่อศึกษาข้อมูลสัดส่วนการใช้ชานอ้อยตลอดทั้งปีของโรงงานน้ำตาลตัวอย่าง พบว่าฤดูหีบเป็นฤดูที่ใช้ชานอ้อยในปริมาณสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 61.74 ของชานอ้อยทั้งหมดที่เกิดขึ้นในฤดูหีบ (ข้อมูลฤดูปลูกอ้อย 56/57ระหว่าง ธ.ค. 2556 - มี.ค.2557) สำหรับฤดูละลายใช้ปริมาณชานอ้อยคิดเป็นร้อยละ 29.94 ส่วนในฤดูซ่อมบำรุงปริมาณชานอ้อยที่ใช้คิดเป็นร้อยละ 7.25 และมีปริมาณชานอ้อยคงเหลือในโรงงานคิดเป็นร้อยละ 1.07 ดังแสดงในรูปที่ 1                                                                                             

รูปที่ 1 แสดงสัดส่วนการใช้ชานอ้อยตลอดทั้งปี

                            เมื่อชานอ้อยเป็นแหล่งให้พลังงานสำคัญของการผลิตน้ำตาลในโรงงานน้ำตาลทั้งสำหรับผลิตพลังงานความร้อน และพลังงานไฟฟ้าเพื่อการผลิตน้ำตาลรวมทั้งเพื่อส่งขายในเชิงพาณิชย์ควบคู่กันไป อัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) จึงเป็นดัชนีที่สำคัญสำหรับการบริหารจัดการการใช้ชานอ้อยให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด  หากทำการเปรียบเทียบอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) ของทั้ง 3 ฤดูในโรงงานน้ำตาลพบว่า ฤดูหีบเป็นฤดูที่มีอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) สูงสุดใน 3 ฤดูการผลิตดังแสดงในตารางที่ 2 และรูปที่ 2

ตารางที่ 2 แสดงอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) ของแต่ละฤดูในโรงงานน้ำตาล

หมายเหตุ *คิดค่าความร้อนของชานอ้อยที่ 7.53 MJ/kg

รูปที่ 2 แสดงการเปรียบเทียบอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ย (Heat Rate) ของแต่ละฤดูในโรงงานน้ำตาล

                            ฤดูหีบเป็นฤดูที่มีอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) สูงสุดใน 3 ฤดูการผลิต เฉลี่ยที่ 36.35 MJ/kWh นั่นหมายถึงต้องใช้ปริมาณชานอ้อยสูงที่สุดสำหรับการผลิตไฟฟ้า แต่เมื่อพิจารณากายภาพอื่นๆประกอบ จะพบว่าปริมาณชานอ้อยที่ใช้ในฤดูนี้มีความต้องการแฝงของการใช้ไอน้ำเพื่อการผลิตน้ำตาลซ่อนอยู่ ซึ่งในฤดูนี้มีความต้องการใช้ไอน้ำเพื่อการผลิตน้ำตาลทั้งที่ความดันสูงและความดันต่ำ โดยไอน้ำความดันสูง (High-pressure steam)ความดันระหว่าง 20-30 bar อุณหภูมิประมาณ 350-370 องศาเซลเซียส จะถูกใช้ไปในอุปกรณ์ต้นกำลัง เช่น กังหันไอน้ำเพื่อผลิตกำลังกลขับชุดใบมีดตัดอ้อยและลูกหีบนอกเหนือจากใช้สำหรับกังหันผลิตไฟฟ้า เป็นต้นสำหรับไอน้ำความดันต่ำ (Low-pressure steam)ก็จะมีความดันประมาณ 1.5 bar โดยส่วนใหญ่ไอน้ำความดันต่ำจะเกิดจากไอน้ำความดันสูงที่ถูกใช้งานแล้วและลดคุณภาพลงเพื่อใช้ที่หม้อต้มและหม้อเคี่ยว

                            ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นข้อมูลของโรงงานน้ำตาลตัวอย่างในโรงงาน กลุ่มที่ 3   (รายละเอียดการแบ่งกลุ่มของโรงงานน้ำตาลอยู่ในบทความตอนที่ 1 “สถานภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชานอ้อย”) โรงงานน้ำตาลไม่มีการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเอง  โดยมีโรงไฟฟ้าที่อยู่ในเครือที่จดทะเบียนพาณิชย์แยกจากโรงงานน้ำตาลทำการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเพื่อขายกลับมายังโรงงานน้ำตาล  ดังนั้นไอน้ำที่ผลิตได้ทั้งหมดจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน ประกอบด้วยไอน้ำความดันสูงที่ใช้สำหรับลูกหีบผลิตน้ำตาล  ไอน้ำความดันต่ำที่ใช้สำหรับผลิตน้ำตาล (ออกจากกังหันปั่นไฟ)  และไอน้ำที่ใช้เองในโรงงานไฟฟ้า ดังแสดงในรูปที่ 3                                                         

รูปที่ 3 สัดส่วนของปริมาณไอน้ำที่ผลิตได้ในฤดูหีบ

                            เมื่อพิจารณาสัดส่วนไอน้ำจากรูปที่ 3 พบว่า ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นในฤดูนี้จึงเกิดจากไอน้ำเพียง 2 ก้อน ได้แก่ ก้อนพลังงานไอน้ำความดันต่ำที่ใช้สำหรับผลิตน้ำตาล (ออกจากกังหันปั่นไฟ) และก้อนพลังงานไอน้ำที่ใช้เองในโรงงานไฟฟ้าเท่านั้นเมื่อพิจารณาปริมาณพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตขึ้นในฤดูนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นทั้งหมดถูกส่งไปใช้เพื่อการผลิตน้ำตาลในโรงงานน้ำตาลคิดเป็นร้อยละ 48.35 และสามารถผลิตเพื่อส่งขายให้กับการไฟฟ้าได้เพียงร้อยละ 36.15 ในส่วนที่เหลือถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าร้อยละ 15.50  ดังแสดงในรูปที่ 4

รูปที่ 4 แสดงสัดส่วนของปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าฤดูหีบ

                            เช่นเดียวกันเมื่อพิจารณาอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate)ในฤดูละลาย มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 23.15 MJ/kWh แม้ว่าจะไม่มีการหีบอ้อยในฤดูนี้  แต่ปริมาณชานอ้อยที่ใช้ฤดูนี้มีความต้องการแฝงของการใช้ไอน้ำเพื่อการผลิตน้ำตาลซ่อนอยู่เช่นเดียวกันแม้จะไม่มากนัก  ปริมาณไอน้ำส่วนใหญ่ที่โรงงานน้ำตาลต้องการคือไอน้ำความดันต่ำเพื่อใช้ในการละลายน้ำตาลดิบสำหรับทำน้ำตาลทราย มีความต้องการใช้ปริมาณไอน้ำความดังสูงอยู่เพียงเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 1.94 ดังแสดงในรูปที่ 5 อาจกล่าวได้ว่า อัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate)ในฤดูละลายนี้ก็ยังไม่ใช่ค่าที่แท้จริงของศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าของชีวมวลชานอ้อย   แม้ว่าอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) จะมีค่าที่ดีขึ้นซึ่งหมายถึงการใช้ชานอ้อยในการผลิตไฟฟ้าลดลงก็ตาม

รูปที่ 5 สัดส่วนของปริมาณไอน้ำที่ผลิตได้ในฤดูละลาย

                            ปริมาณไอน้ำที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดในฤดูนี้ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โรงงานน้ำตาลก็มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในสัดส่วนที่ลดลง ดังนั้นสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าจึงสูงขึ้น แม้สัดส่วนการขายไฟฟ้าที่แสดงในรูปที่ 6 จะสูงถึงร้อยละ 61.66 แต่ไม่ได้หมายความว่าปริมาณไฟฟ้าที่ถูกส่งขายให้กับการไฟฟ้านั้นจะมีปริมาณหน่วยไฟที่เพิ่มขึ้น ด้วยข้อจำกัดของสัญญาขายไฟที่ทำขึ้นระหว่างโรงงานกับการไฟฟ้า กล่าวคือทุกโรงงานที่ต้องการขายไฟให้กับการไฟฟ้า เมื่อทำสัญญาขายไฟที่ขนาดเท่าใดก็ตามจะต้องส่งไฟฟ้าขายตามปริมาณไม่มากกว่าที่ทำสัญญาไว้ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน อาทิเช่น ข้อจำกัดของสายส่งของการไฟฟ้าและความสามารถในการผลิตไฟฟ้าขายอย่างสม่ำเสมอของโรงงานต้องคำนึงถึงความสามารถในการบริหารจัดการชานอ้อยเพื่อใช้ในโรงงานให้ได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

รูปที่ 6 สัดส่วนของปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าฤดูละลาย

                            ความชัดเจนของอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) ที่แท้จริงของชีวมวลชานอ้อยจะปรากฏขึ้นในฤดูซ่อมบำรุงค่าเฉลี่ยที่ 18.29 MJ/kWh  ไอน้ำทั้งหมดที่ผลิตได้ในฤดูนี้จะใช้ในโรงไฟฟ้าเพื่อการผลิตไฟฟ้า แต่ไฟฟ้าที่ได้ทั้งหมดก็ยังคงต้องส่งให้กับโรงงานน้ำตาลสำหรับการบำรุงรักษาและซ่อมแซมเครื่องจักรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตน้ำตาลในฤดูที่จะมาถึง  แสดงรายละเอียดสัดส่วนปริมาณไอน้ำและไฟฟ้าได้ดังรูปที่ 7 และรูปที่ 8 ตามลำดับ                                                                                           

รูปที่ 7 สัดส่วนของปริมาณไอน้ำที่ผลิตได้ในฤดูซ่อมบำรุง

รูปที่ 8 สัดส่วนของปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าฤดูซ่อมบำรุง

                            เมื่อทำการแปรสัดส่วนอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) ที่ 18.29 MJ/kWh  ในฤดูซ่อมบำรุง  เป็นปริมาณน้ำหนักของชานอ้อยที่ต้องใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า  จะได้ว่าชานอ้อยจำนวน 2.43 kg สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 kWh  ที่ค่าความร้อนชานอ้อย7.53 MJ/kg [ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน]  จึงนับได้ว่าเป็นต้นทุนราคาพลังงานชีวมวลชานอ้อยที่น่าสนใจมากทีเดียว เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นจึงได้นำสัดส่วนพลังงานไอน้ำและสัดส่วนพลังงานไฟฟ้าของทั้ง 3 ฤดู มาสรุปไว้ในตารางเดียวกัน ดังแสดงในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 แสดงสัดส่วนปริมาณพลังงานของโรงงานน้ำตาล (ไอน้ำและไฟฟ้า)

                            แน่นอนว่าการผลิตไฟฟ้าให้ได้มากที่สุดด้วยพลังงานต้นกำเนิดที่ใช้ผลิตให้น้อยที่สุดคือแนวทางที่ดีที่สุด หากแต่ในความที่สุดนั้น คงต้องพิจารณาถึงการได้มาซึ่งแนวทางที่ดีที่สุดอันเป็นปัจจัยประกอบร่วมด้วย ทั้งปัจจัยภายในโรงงานน้ำตาลเอง และปัจจัยภายนอกโรงงาน ถ้ากล่าวถึงปัจจัยภายในโรงงานน้ำตาล โรงงานต้องค้นหาจุดเหมาะสมที่ทำให้เกิดสมดุลรอบด้าน ระหว่างปริมาณการหีบอ้อย ปริมาณการผลิตน้ำตาล ปริมาณการใช้ไอน้ำเพื่อใช้ผลิตน้ำตาลและผลิตไฟฟ้า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในการผลิตน้ำตาลและขายเชิงพาณิชย์ ตลอดจนประสิทธิภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในโรงงาน ร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการใช้พลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด

                            นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกที่สำคัญและช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวทางที่ดีที่สุด คงไม่พ้นความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ภายนอก รวมถึงภาครัฐ ทั้งการจัดทำยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย รวมถึงแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan:ADEP) ให้มีการพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน

                            จากรายงานการประชุม “คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558ณ ห้องประชุมตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล”

                            ระเบียบวาระที่ 3.8 (ร่าง) ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสาปะหลังผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย)ข้อ 1.4 (ร่าง) ยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้าตาลทราย กำหนดวิสัยทัศน์ให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้ที่มั่นคง สามารถประกอบอาชีพการปลูกอ้อยได้อย่างยั่งยืน เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่นคงทั้งทางด้านอาหาร และพลังงานให้กับประเทศ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีเป้าหมายที่สำคัญคือ (1) เพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยทดแทนในพื้นที่นาข้าวไม่เหมาะสมจำนวน 6 ล้านไร่ ในปี 2569 (2) เพิ่มผลผลิตอ้อยจากจำนวน 103.68 ล้านตัน ในปี 2557 เป็น 182.04 ล้านตัน ในปี 2569 แบ่งเป็นผลผลิตอ้อยจากพื้นที่นาไม่เหมาะสม 61.20 ล้านตัน และพื้นที่อ้อยเดิม 120.84 ล้านตัน(3) เพิ่มผลผลิตน้ำตาลทรายจากจำนวน 11.29 ล้านตัน ในปี 2557 เป็น 20.36 ล้านตันในปี2569 แบ่งออกเป็น ผลผลิตน้ำตาลทรายจากพื้นที่นาไม่เหมาะสม 6.19 ล้านตัน และพื้นที่อ้อยเดิม 14.17 ล้านตัน

                            มติที่ประชุมเห็นชอบ (ร่าง) ยุทธศาสตร์สินค้าเกษตร 4 สินค้า (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย) โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน เร่งรัดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ โดยให้ความสำคัญกับ(1) การพัฒนาตลาดและส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรรายย่อย (2) การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่น และ (3) การประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

                            หากยุทธศาสตร์นี้ดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้จะเกิดปริมาณชานอ้อยสำหรับเป็นแหล่งเชื้อเพลิงทางเลือกเพิ่มเป็น 52.70ล้านตันในปี พ.ศ. 2569 จากเดิม 30.01 ล้านตันในปีพ.ศ. 2557[อ้างอิงปริมาณชานอ้อยที่เกิดขึ้นที่ร้อยละ 28.95 ของปริมาณอ้อยสดโดยน้ำหนัก จากบทความ “สถานภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชานอ้อย”] เมื่อขนาดการเกิดชานอ้อยนั้น มีขนาดที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแนวโน้มที่โรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าในเครือจะดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าจึงมีความเป็นไปได้ที่จะสอดรับและสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan:ADEP)

                            หากทำการคาดการณ์ปริมาณอ้อยสดที่จะเพิ่มขึ้นตามยุทธศาสตร์อ้อยโรงงานและน้ำตาลทรายฉบับใหม่ ระหว่างปี 2558-2569 ดังกล่าวข้างต้นในรูปแบบสมการเส้นตรง จะสามารถคาดการณ์ปริมาณอ้อยสดและชานอ้อยที่จะเกิดเพิ่มขึ้น (โดยใช้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดชานอ้อยที่ร้อยละ 28.95) ระหว่าง ปี พ.ศ.2557-  พ.ศ. 2567 ดังแสดงในดังตารางที่ 4

                            ตารางที่ 4 แสดงการคาดการณ์ปริมาณอ้อยสดและชานอ้อยระหว่างปี พ.ศ. 2557 -  พ.ศ. 2569

                            จากนั้นนำค่าเฉลี่ยจากกราฟรูปที่ 1 แสดงสัดส่วนการใช้ชานอ้อยตลอดทั้งปีในการผลิตไฟฟ้าแต่ละฤดูค่าเฉลี่ย Heat Rate จากตารางที่ 2 แสดงอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) ของแต่ละฤดูในโรงงานน้ำตาลและ ค่าเฉลี่ย ร้อยละการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับโรงไฟฟ้า ตารางที่ 3 แสดงสัดส่วนปริมาณพลังงานของโรงงานน้ำตาล (ไอน้ำและไฟฟ้า)ไปเป็นมาตรฐานการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล จะสามารถพยากรณ์ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าได้ดังแสดงในดังตารางที่ 5

                            ตารางที่ 5การพยากรณ์ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้า

                             

                            1 ค่าเฉลี่ย %จากกราฟรูปที่ 1 แสดงสัดส่วนการใช้ชานอ้อยตลอดทั้งปี

                            2 ค่าเฉลี่ย Heat Rate จากตารางที่ 2แสดงอัตราส่วนชานอ้อยต่อการผลิตไฟฟ้า (Heat Rate) ของแต่ละฤดูในโรงงานน้ำตาล

                            3ค่าเฉลี่ย ร้อยละการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับโรงไฟฟ้า ตารางที่ 3 แสดงสัดส่วนปริมาณพลังงานของโรงงานน้ำตาล (ไอน้ำและไฟฟ้า

                            แล้วนำมาพิจารณาร่วมกันกับ แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (แผน PDP215) ซึ่งมีแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan:ADEP) ให้มีการกำลังผลิตติดตั้งในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ที่ 5,570 เมกะวัตต์ (MW) ในปี พ.ศ. 2579 [อ้างอิงจาก : แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ. 2558 – 2579 (PDP2015) ตารางที่ 3.4 แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (ADEP) ปี 2579หน้า 3-6] และ ตารางที่ 4.8 ค่าพยากรณ์การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า (PDP2015 : กรณีฐาน) หน้า 4-8 แสดงเป็นการพยากรณ์ปริมาณไฟฟ้าที่โรงงานน้ำตาลสามารถผลิตได้เทียบเป็นร้อยละดังแสดงในตารางที่ 6

                            ตารางที่ 6 แสดงการพยากรณ์ร้อยละปริมาณไฟฟ้าที่โรงงานน้ำตาลสามารถผลิตได้เทียบกับความต้องการไฟฟ้าที่ผลิตสุทธิ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP2015)                                                                                              

                            4ศักยภาพปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้กับการไฟฟ้าได้ จากตารางที่ 5 การพยากรณ์ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้า

                            5แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 (PDP2015) ตารางที่ 4.8 ค่าพยากรณ์การผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า (PDP2015 : กรณีฐาน) หน้า 4-8

                            จากการพยากรณ์ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล ซึ่งแสดงในตารางที่ 5 ของปี พ.ศ. 2557 มีค่าเท่ากับ 3,885,335,604.88 kWh/ปี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับค่าที่ได้จากตารางที่ 1 ปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้การไฟฟ้าในรอบปี 2557ซึ่งมีค่าเพียง 2,710,712,057.00 kWh/ปี  ซึ่งน้อยกว่าค่าที่พยากรณ์ไว้ถึง 1,174,623,547.88kWh/ปี  ดังนั้นหากมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำ และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าต่อปริมาณไอน้ำได้ตามค่าที่อ้างอิงที่นำมาใช้ในการพยากรณ์ จะสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าได้เพิ่มมาขึ้น คิดเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้นถึง  30.23  ทั้งนี้หากต้องการให้ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อยเป็นไปดังตารางที่ 5 และตารางที่ 6 ประเทศไทยต้องผลักดังให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำ และการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งโรงงานน้ำตาลในประเทศไทยยังสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อีกมากเมื่อพิจารณาจากค่าเฉลี่ยที่เคยได้นำเสนอไปในบทความ“สถานภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชานอ้อย”

                            จากข้อมูลพยากรณ์ปริมาณชานอ้อยที่จะเกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ทั้งหมด สรุปได้ว่าชานอ้อยนับเป็นเชื้อเพลิงพลังงานชีวมวลทางเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โรงไฟฟ้าชานอ้อยมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่ผลิตสุทธิ(รวม VSPP) ของประเทศได้สูงถึงร้อยละ 25.49 ในปี พ.ศ. 2569 แนวโน้มปริมาณชานอ้อยที่กำลังจะเกิดขึ้นตามการพยากรณ์ข้างต้นเป็นปริมาณที่มีนัยสำคัญ การวางแผนจัดการที่ดีในทุกมิติย่อมมีความสำคัญยิ่งหย่อนไม่แพ้กัน ในขณะเดียวกันต้องมีความสอดคล้องกันทั้งทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แผนการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แผนพลังงานที่เกี่ยวข้อง การผนวกแผน ADEP เข้ากับแผน PDP2015 การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ระบบส่งไฟฟ้าและระบบจำหน่ายไฟฟ้า แม้แต่การพัฒนาระบบ Smart Grid เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอนาคตอีกด้วย

                            ประเทศไทยมีชานอ้อยเป็นแหล่งพลังงานทดแทนที่สามารถสร้างหรือปลูกทดแทนได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ตามวงจรชีวิตของการปลูกอ้อย อ้อยเป็นพืชพลังงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ตลอดช่วงอายุขัย เมื่ออ้อยถูกส่งเข้าสู่โรงงานน้ำตาล ได้ผลผลิตเป็นน้ำตาลและชานอ้อย โรงงานน้ำตาลนำชานอ้อยไปผลิตพลังงานเพื่อใช้เองและจะส่งออกขายได้เมื่อเหลือใช้ โรงงานน้ำตาลจึงนับเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและเบ็ดเสร็จในด้านพลังงาน แม้เทคโนโลยีการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าที่มีอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันยังใช้ประโยชน์จากชานอ้อยได้ไม่เต็มที่นัก แนวทางพัฒนา คือ ต้องทำการศึกษาค้นคว้าวิจัยคุณลักษณะในการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลอย่างละเอียด ท่องแท้และลึกซึ้ง อ้อยก็จะเป็นพืชพลังงานตัวอย่าง (Model) ที่จะใช้เป็นแนวทางการพึ่งพาพลังงานจากชีวมวลได้ด้วยตนเองของประเทศไทยในอนาคต

                            แล้วเมื่อใดก็ตามปัจจัยภายในและภายนอกประสานและสอดคล้องกันในจุดที่เหมาะสมจนเกิดความเข้มแข็งในโรงงานน้ำตาล ประเทศไทยก็จะมีทางเลือกเป็นแหล่งพลังงานสำรองอีกหนึ่งรูปแบบมาใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิลนอกจากความเข้มแข็งในโรงงานน้ำตาลที่สำคัญแล้วนั้น เสถียรภาพของการผลิตไฟฟ้าได้อย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปีก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นการผลักดันให้เกิดการค้นหาวิธีการใดๆให้พลังงานทดแทนทุกรูปแบบเกิดความเสถียรเพื่อการวางแผนต่อสู้กับวิกฤตการณ์พลังงานที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจึงควรเป็นเป้าหมายสูงสุดในขณะนี้

                                                                           ∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞∞

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: 
promote: 
level: 
1
promote title: 
การผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย ตัวช่วยของแผน AEDP 2015