การใช้พลังงานปี 56 ขยายตัว 1.2%

ภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2556 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องถึง 1.2% แต่มูลค่านำเข้าพลังงานลดลงกว่าปีก่อนหน้า ขณะที่ภาพรวมการใช้พลังงานปี 2557 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5%

สำหรับสถานการณ์การใช้พลังงานในปี 2556 เมื่อเทียบกับปี 2555 ในปี 2556 มีการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นจำนวนทั้งสิ้น 2 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 1.2% โดยก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 46% หรืออยู่ที่ประมาณ 917,015 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.2% การใช้น้ำมัน มีสัดส่วนรองลงมาอยู่ที่ 36% หรืออยู่ที่ประมาณ 727,559  บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.6% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วน 16% หรืออยู่ที่ประมาณ 313,320 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลง 4.4% การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ การนำเข้าไฟฟ้าจากต่างประเทศมีสัดส่วน 2% หรืออยู่ที่ 46,635 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลง 15.7%

ส่วนปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูป ในกลุ่มน้ำมันเบนซิน 22.4 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เฉลี่ย 20.7 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีการใช้อยู่ที่ 12.2 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากมีการประกาศยกเลิกการใช้น้ำมันเบนซินออกเทน 91 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2556 ส่วนน้ำมันเบนซิน 95 เฉลี่ย 1.70 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ซึ่งมีการใช้เฉลี่ยเพียง 0.12 ล้านลิตรต่อวัน ส่วนน้ำมันดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 57.2 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีการใช้อยู่ที่ 56.2 ล้านลิตรต่อวัน

ขณะที่ปริมาณการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) รวมทั้งสิ้น 7.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ที่มีการใช้ 7.38 ล้านตัน โดยแบ่งเป็น ภาคปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 2.1% ภาคครัวเรือน ลดลง 21.3% ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้น 66.8% และภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.2% โดยสาเหตุที่การใช้ LPG ในภาคครัวเรือนที่ลดลง และไปเพิ่มในส่วนของการใช้เป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์ เนื่องจากมีการปรับขึ้นราคาในภาคครัวเรือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ประกอบกับมาตรการเข้มงวดตรวจสอบและปราบปรามการลักลอบจำหน่าย LPG แบบผิดประเภท

การใช้ก๊าซธรรมชาติ เฉลี่ยอยู่ที่ 4,602 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.5% โดยมีการใช้เพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน ยกเว้นการใช้ในโรงแยกก๊าซที่ปรับลดลง 2.6% ส่วนการนำไปใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 2.1% ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 1.1% ใช้สำหรับรถยนต์ เพิ่มขึ้น 10.4%

การใช้ลิกไนต์ รวม 18.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 1.8% โดยใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วน 83% และใช้ในภาคอุตสาหกรรม 17% ส่วนการใช้ถ่านหินนำเข้ารวม 17 ล้านตัน ลดลง 7.5% แบ่งเป็น การใช้ในภาคอุตสาหกรรมสัดส่วน 54% ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ Independent Power Producer (IPP) สัดส่วน 33% และของ Small Power Producer (SPP) สัดส่วน 13%

ขณะที่สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนต่อการใช้พลังงานของประเทศในปี 2556 อยู่ที่ 10.9% หรืออยู่ที่ 8,211 KTOE จากการใช้ขั้นสุดท้ายของประเทศที่ 75,214 KTOE โดยแบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวม 3,503.52 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 222.71 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์ 635.48 เมกะวัตต์, ไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก 104.77 เมกะวัตต์, พลังงานชีวมวล 2,230.05 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ 262.73 เมกะวัตต์, พลังงานจากขยะ 47.48 เมกะวัตต์ และพลังงานจากรูปแบบใหม่ 0.3 เมกะวัตต์

ส่วนการผลิตความร้อนจากพลังงานทดแทนได้ 5,335.50 KTOE แบ่งเป็น การผลิตความร้อนจากแสงอาทิตย์ 4.50 KTOE พลังงานชีวมวล 4,769 KTOE ก๊าซชีวมวล 477 KTOE พลังงานจากขยะ 85 KTOE ขณะที่การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพลังงานทดแทนอยู่ที่ 5.31 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็น เอทานอล 2.53 ล้านลิตรต่อวัน และไบโอดีเซล 2.78 ล้านลิตรต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้ารวม 33,681 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 3.32% มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ 26,598 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนการผลิตไฟฟ้า มีจำนวน 179,201 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่การใช้ไฟฟ้ามีจำนวน 165,560 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 2.3%

โดยมูลค่าการใช้พลังงานในปี 2556 อยู่ที่ 2.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% แบ่งเป็น มูลค่าของน้ำมันสำเร็จรูป 1,327,636 ล้านบาท ไฟฟ้า 541,974 ล้านบาท ก๊าซธรรมชาติ 121,147 ล้านบาท ถ่านหิน/ลิกไนต์ 25,315 ล้านบาท พลังงานทดแทน 118,469 ล้านบาท

ส่วนมูลค่าการนำเข้าพลังงานในปี 2556 อยู่ที่ 1.42 ล้านล้านบาท ลดลง 2% แบ่งเป็น น้ำมันดิบ 1,073,000 ล้านบาท ก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 146,944 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูป 134,306 ล้านบาท ถ่านหิน 39,733 ล้านบาท ไฟฟ้า 20,168 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าการส่งออกในปี 2556 อยู่ที่ 357,896 ล้านบาท ลดลง 10.8% แบ่งเป็น น้ำมันสำเร็จรูป 322,621 ล้านบาท น้ำมันดิบ 30,927 ล้านบาท ไฟฟ้า 4,348 ล้านบาท

ขณะที่การจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศ รวมพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติ 1.374 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีปริมาณผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว 88.7 ล้านบาร์เรล มีปริมาณสำรองปิโตรเลียม รวมก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และน้ำมันดิบ ที่พิสูจน์แล้ว ณ สิ้นปี 2555 จำนวน 2,007 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

สำหรับแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2557 คาดว่าความต้องการพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นในปี 2557 คาดว่าจะอยู่ที่ 2,055 เทียบเท่าพันบาร์เรลน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.5% จากปี 2556 ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 1.5% แบ่งเป็น การใช้น้ำมันเบนซิน เพิ่มขึ้น 0.6% การใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 1.6% การใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้น 5% ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 4% ขณะที่การใช้พลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้น 7% ส่วนการใช้ลิกไนต์/ถ่านหิน จะใกล้เคียงกับปี 2556 การผลิตไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 4.1% ส่วนความต้องการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในภาคครัวเรือน คาดว่าจะปรับตัวลดลง 4.7% ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.4% การใช้ในภาครถยนต์เพิ่มขึ้น 12.9% และภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น 2.9%  

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: