ตีฆ้องไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์

ตีฆ้องไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์
ตีฆ้องไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์

พลังงานตีฆ้องโครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเลี้ยงช้าง เซ็นสัญญาอุดหนุน 13 โครงการนำร่องส่งเสริมเกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกก่อนหาข้อมูลกำหนดอัตราค่าต้นทุนรับซื้อไฟ ด้านกรมโรงงานเคาะ 4 ใบอนุญาตโรงงานไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์ประเดิมพร้อมวางกรอบพิจารณาออกใบอนุญาตใน 45 วัน

          นายประมวล  จันทร์พงษ์ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่าในเดือน ก.พ. นี้ พพ. จะลงนามในสัญญาการช่วยเหลือเงินลงทุนสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ (หญ้าเลี้ยงช้าง) แก่เอกชนและหน่วยงานอิสระรวม 13 แห่ง โดยเกณฑ์การช่วยเหลือ พพ. จะใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานที่ได้รับการจัดสรร 800 ล้านบาท ช่วยเหลือผู้ลงทุนผลิตไฟฟ้า 13 ราย ผลิตไฟฟ้าแห่งละ 1 เมกะวัตต์รวม 13 เมกะวัตต์ รายละไม่เกิน 20% หรือวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท จากปกติการลงทุนผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์ จะใช้งบประมาณอยู่ที่ 100 ล้านบาท

          ทั้งนี้ ผู้ลงทุนผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ทั้ง 13 รายมาจากการคัดเลือกตามเกณฑ์ที่กำหนดจากผู้สมัครรวม 50 ราย โดยพิจารณาจากความพร้อมด้านเงินทุน เทคโนโลยี การถือครองถือที่ดินซึ่งมีผู้ผ่านการคัดเลือก 11 ราย และมาจากองค์การส่งเคราะห์ทหารผ่านศึก 2 ราย กระจายอยู่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รายละประมาณ 1,000 ไร่ คาดว่าผู้ลงทุนจะสามารถผลิตไฟฟ้าและเริ่มขายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ปลายปี 57 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าระบบสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีด อินทารีฟ) 4.50 บาทต่อหน่วย “การผลิตไฟฟ้ารวม 13 เมกะวัตต์ ถือเป็นแปลงสาธิตเพื่อให้ พพ. กระทรวงพลังงาน นำผลการดำเนินการมาวิเคราะห์ความคุ้มค่าด้านการลงทุนจากการกำหนดฟีดอินทารีฟที่ 4.50 บาทต่อหน่วย”

          นายประมวลกล่าวว่า พพ. มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ และสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรและเอกชนทั่วไปสนใจปลูกหญ้าเนเปียร์ได้ภายในปี 58 เพื่อใช้เป็นชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น “ หญ้าเนเปียร์ถือเป็นพืชพลังงานที่สามารถทดแทนการปลูกพืชชนิดอื่น อาทิ ข้าว ซึ่งปัจจุบันราคาค่อนข้างตก ขณะที่หญ้าเนเปียร์ตามคุณสมบัติสามารถตัดขายได้ปีละ 5 ครั้ง เพราะใช้เวลาปลุกต่อครั้ง 2-3 เดือน ผลผลิตต่อปีอยู่ที่ 60-100 ตัน ตามสภาพพื้นที่ และอายุการปลูกต่อรอบจะนานถึง 7 ปี เพราะเมื่อตัดขายแล้วสามารถแตกยอดขึ้นได้อีก ทำให้คุ้มค่าต่อการลงทุน คำนวณแล้วรายได้มากกว่าการปลูกข้าวแน่นอน” นายณัฐพล  ณัฏฐสมบูรณ์      อธิบดีกรมโรงงาน (กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้แจ้งขอรับใบอนุญาตโรงงานจากคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณา อนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม (รง.4) เพื่อผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) ทั้งในส่วนที่ยืนขอรับใบอนุญาตผ่านสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ในพื้นที่นั้นๆ โดยตรง และยื่นผ่านสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรคกูเลเตอร์) โดยทั้งสองหน่วยงานได้ส่งต่อมาให้ กรอ. เมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา รวม 61 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าว กรอ. ได้รับรายงานการตรวจสอบคำขอและพิจารณาให้ใบอนุญาต รง. 4 ไปแล้วรวม 4 ราย และเห็นชอบใบอนุญาตที่ยื่นผ่านอุตสาหกรรมจังหวัด โดยตรงอีก 1 ราย เมื่อเดือน ธ.ค.

          ในส่วนที่เหลืออีก 55 รายการ คาดว่า กรอ. จะสามารถดำเนินการออกใบอนุญาตได้แล้วเสร็จไม่เกิน 45 วัน นับตั้งแต่เรคกูเลเตอร์ยื่นเรื่องมาที่ กรอ. โดยตนได้มีคำสั่งกำชับให้เร่งดำเนินการพิจารณาตรวจสอบให้แล้วเสร็จไม่เกิน 30 วัน และหากเรคกูเลเตอร์สามารถพิจารณาได้รวดเร็ว กรอ. ก็จะดำเนินการออกใบอนุญาตได้ไม่ล่าช้า