ฐานข้อมูลการลงทุนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากทะลายปาล์มเปล่า

          กระทรวงพลังงาน ได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ที่ให้ความสาคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Security) (2) ด้านเศรษฐกิจ (Economy) และ(3) ด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) และเพื่อให้เป็นไปตามกรอบดังกล่าว จึงได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติขึ้น โดยได้ทบทวนการจัดทำแผนพลังงาน 5 แผนหลักในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2579 ที่สอดคล้องกับรอบของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แก่ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2015) แผนอนุรักษ์พลังงาน(EEP2015)  แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติของไทย(GAS PLAN) และแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (OIL PLAN)   โดยในการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากวัตถุดิบพลังงานทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศให้ได้เต็มตามศักยภาพ การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมและการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อผลประโยชน์ร่วมในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน

          เมื่อพิจารณาถึงหลักคิดและรายละเอียดของการจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก AEDP2015  พบว่ามีการกำหนดเป้าหมายทั้งการผลิตไฟฟ้าและความร้อนจากพลังงานทดแทนโดยเป้าหมายการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนกำหนดให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับศักยภาพของเชื้อเพลิงวัตถุดิบ และความสามารถในการรองรับระบบไฟฟ้า ได้แก่ (1)  ศักยภาพแหล่งพลังงานทดแทนคงเหลือของแต่ละเทคโนโลยี (2) ความต้องการการใช้ไฟฟ้า (3)  ความสามารถของสายส่งในการรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน (4) การจัดลำดับเทคโนโลยีตามราคาต้นทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ (Merit Order from Levelized Cost of Electricity: LCOE) และตามนโยบายของรัฐบาลในด้านผลประโยชน์เชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (Society Cost) และ (5) การจัดสรรการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทนเชิงพื้นที่ (RE Zoning) โดยการจัดทำ  Merit Order  และการจัดสรรเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าของแต่ละประเภทเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนสำหรับในแต่ละโซนพื้นที่

          จากหลักคิดของการกำหนดเป้าหมายของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดังกล่าวข้างต้น   พบว่าชีวมวลได้รับการจัดลำดับให้ได้รับโอกาสในการนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนลำดับที่สองรองจากขยะ  เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและมูลค่าผลประโยชน์เชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมสูง  โดยเป้าหมายของการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลตามแผน AEDP 2015  เมื่อสิ้นสุดปีพ.ศ. 2579  ต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้  5,570 MW จากปัจจุบัน พ.ศ.2557  ที่มีกำลังการผลิตที่ 2,452 MW   และผลิตความร้อน  22,100  ktoe   จากปัจจุบันที่มีการใช้อยู่ที่ 5,144 ktoe (ที่มา: แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579)

          ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนจากชีวมวลบรรลุเป้าหมายตามแผนAEDP 2015  ต้องมีข้อมูลดังต่อไปนี้    (1)  ข้อมูลเทคโนโลยีชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตพลังงานจากชีวมวล   (2) ข้อมูลสถานภาพการนำชีวมวลมาใช้ผลิตพลังงานที่ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการยอมรับของทุกภาคส่วนในแต่ละพื้นที่และแต่ละเทคโนโลยีที่เหมาะสม (3) ข้อมูลศักยภาพชนิดและปริมาณชีวมวลคงเหลือ (Residure Potential) และที่สามารถนำมาใช้ได้จริงในแต่ละพื้นที่ที่ เหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรม  เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการยอมรับ (Real Potential)  (4) ข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้า (5)  ข้อมูลความสามารถของสายส่งในการรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากชีวมวล (6)  ข้อมูลนโยบายการส่งเสริมหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนในการนำชีวมวลมาผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อน  และ (7) ข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฏหมายที่เกี่ยวข้อง  สภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ ราคารับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวล  ราคารับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวล ความพร้อมของนักลงทุน ยุทธศาสตร์หรือนโยบายของภาครัฐที่ส่งผลต่อปริมาณพลังงานทดแทน เป็นต้น    ซึ่งหากมีข้อมูลดังกล่าวครบถ้วนการพัฒนาการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนจากชีวมวลก็จะเป็นไปตามเป้าหมาย AEDP 2015 ได้ในที่สุด  

    จากความสำคัญดังกล่าวข้างต้น  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จึงได้จัดทำรายงานการศึกษาและจัดทำข้อมูลการลงทุนโครงการพัฒนาการผลิตพลังงานจากชีวมวลขึ้น  โดยในรายงานฉบับบนี้จะนำเสนอข้อมูลการลงทุนผลิตพลังงานจากทะลายปาล์มเปล่า  ซึ่งเป็นชีวมวลที่ได้จากปาล์มน้ำมันและยังคงมีปริมาณที่เหลืออยู่มากในพื้นที่ภาคใต้     โดยนำเสนอในส่วนของ (1.) เทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากทะลายปาล์มเปล่า  (2) สถานภาพโครงการผลิตพลังงานจากทะลายปาล์มเปล่าที่ประสบความสำเร็จ  (3)  ศักยภาพการผลิตพลังงานจากทะลายปาล์มเปล่าที่ยังคงเหลืออยู่ในแต่ละพื้นที่และ  (4) ตัวอย่างข้อมูลผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการผลิตไฟฟ้าจากทะลายปาล์มเปล่า   เพื่อให้ผู้สนใจใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการพิจารณาตัดสินใจดำเนินโครงการผลิตพลังงานจากทะลายปาล์มเปล่า และในอนาคตหากมีข้อมูลเพิ่มเติม เช่น  ข้อมูลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพิ่มขึ้น   ข้อมูลความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่    ข้อมูลความสามารถของสายส่งในการรองรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทะลายปาล์มเปล่า    ข้อมูลนโยบายการส่งเสริมหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนในการนำทะลายปาล์มเปล่ามาผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนและข้อมูลอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น  พพ. จะจัดทำรายงานการศึกษาดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อให้ข้อมูลมีความครบถ้วน ถูกต้องและสมบูรณ์เพียงพอที่จะสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานจากทะลายปาล์มเปล่าได้ต่อไป

promote: