ผลการดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ(Geo Informatics) เพื่อการพัฒนาพลังงานขยะ : กรณีศึกษา จ.สระแก้ว

          ตามที่กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (พศ. 2558-2579) หรือแผน AEDP 2015 ขึ้น โดยเป้าหมายของแผนดังกล่าวคือ ภายในปี พุทธศักราช 2579 ประเทศไทยจะต้องใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในประเทศเป็นพลังงานทดแทนรวมประมาณ 39,300 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ จากประมาณการปริมาณการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายที่ 131,000 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานรวม

          ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้การใช้พลังงานทดแทนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายและแผนคือปริมาณและศักยภาพพลังงานทดแทนทุกชนิดที่มีอยู่ทั้งหมดในประเทศและสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานได้จริง โดยมีความเหมาะสมและยอมรับได้ในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ เพื่อบรรลุตามเป้าหมายและแผน AEDP 2015

          ขยะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่เป็นเป้าหมายอันดับต้นๆ ของแผน AEDP 2015 เนื่องจากเป็นพลังงานหมุนเวียนที่มีประโยชน์ร่วมสูง ดังนั้น พพ. จึงให้ความสำคัญกับการศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลปริมาณและศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ เพื่อจะใช้เป็นข้อมูลและแนวทางในการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานจากขยะให้เหมาะกับปริมาณขยะที่มี เทคโนโลยีที่ใช้ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ โดยปัจจุบันฐานข้อมูลปริมาณและศักยภาพพลังงานขยะในแต่ละพื้นที่ดังกล่าวเผยแพร่อยู่ในเวปไซต์www.dede.go.th ของ พพ.

          แต่เนื่องจากข้อมูลปริมาณและศักยภาพพลังงานขยะดังกล่าวข้างต้นเป็นข้อมูลที่ได้จากกลไกและขั้นตอนการประเมินในระดับภาพรวมทั้งประเทศ เพื่อนำข้อมูลปริมาณและศักยภาพไปใช้สำหรับกำหนดเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนจากขยะตามแผน AEDP 2015 ซึ่งในระดับเชิงพื้นที่ข้อมูลปริมาณและศักยภาพพลังงานขยะที่ได้อาจแตกต่างไปจากข้อมูลระดับประเทศ หากมีการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานจากขยะขึ้นในอนาคต อาจเกิดปัญหาปริมาณขยะที่จะนำมาใช้ผลิตพลังงาน ดังนั้นเพื่อให้การประเมินปริมาณและศักยภาพพลังงานขยะในแต่ละพื้นที่มีความแม่นยำ ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น พพ.จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศ (Geo Informatics) เพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนจากขยะขึ้น โดยทดลองนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศซึ่งประกอบด้วย ซึ่งประกอบด้วย การรับรู้จากระยะไกลหรือ Remote Sensing RS ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกหรือ Global Positioning System GPS และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ หรือ Geographic Information System GIS ร่วมกับการจัดทำกลไกและขั้นตอนการสำรวจข้อมูลในพื้นที่และนำข้อมูลที่ได้ทั้งสองรูปแบบมาวิเคราะห์ปริมาณและศักยภาพพลังงานขยะในจังหวัดสระแก้วที่สามารถนำมาผลิตพลังงานได้จริง พร้อมทั้งนำเสนอทางเลือกในการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานจากขยะที่เหมาะสมกับปริมาณขยะที่มีอยู่จริง โดยคาดหวังว่าหากมีการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานจากขยะขึ้น โครงการดังกล่าวจะมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนได้ตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาลต่อไป

          ผลการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อวิเคราะห์ปริมาณและศักยภาพพลังงานพร้อมทั้งนำเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการผลิตพลังงานจากขยะตามปริมาณและศักยภาพที่มีอยู่จริงของจังหวัดสระแก้วในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปว่าการประเมินปริมาณและศักยภาพพลังงานจากขยะเชิงพื้นที่มีความแตกต่างจากการประเมินปริมาณและศักยภาพพลังงานจากขยะในภาพรวมระดับหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้ทราบปริมาณและศักยภาพพลังงานจากขยะทั่วประเทศที่แม่นยำและมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น พพ.จะดำเนินโครงการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนจากขยะในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: 
promote: 
level: 
2