เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาแนวทางส่งเสริมระบบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

เนื่องด้วยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการอนุรักษ์พลังงานไปสู่การปฏิบัติ มาตรการหลักมาตรการหนึ่งที่ดำเนินการได้แก่ มาตรการด้านกำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานและติดฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อการประหยัดพลังงาน โดยได้ศึกษากำหนดมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานสำหรับอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงและวัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และดำเนินการติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2550-2557 พพ. ได้ติดฉลากใน 8 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว, อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์, กระจก, ฉนวนใยแก้วแผ่นเรียบ, มอเตอร์เหนี่ยวนำสามเฟส, เครื่องยนต์ดีเซลขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยน้ำ,เครื่องยนต์เบนซินขนาดเล็กระบายความร้อนด้วยอากาศ และเตาก๊าซแรงดันสูง โดยมีการติดฉลากไปทั้งสิ้น 17 ล้านใบ คิดเป็นศักยภาพการประหยัดพลังงานได้ประมาณ 424 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่าพลังงานที่ประหยัดได้มากถึง 8,000 ล้านบาทต่อปี โดยในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการติดฉลากแทนการใช้ผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพต่ำ จะเป็นการกำจัดผลิตภัณฑ์ประสิทธิภาพต่ำออกจากตลาด อีกทั้งยังส่งผลให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยลดการใช้พลังงานและลดต้นทุนด้านพลังงานของประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการดำเินการในมาตรการติดฉลากผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานให้เป็นไปตามแผนงาน และเกิดศักยภาพการอนุรักษ์พลังงานเบื้องต้นที่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย แต่จากการประเมินและติดตามผลของ พพ. หลังจากมีการออกฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงให้กับผู้ผลิตและผู้จำหน่่ายใน 8 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปแล้ว พบว่าการจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงยังมีสัดส่วนไม่มากเท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุดังกล่าวล้วนมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้บริโภค ซึ่งแม้ว่า พพ. จะมีการส่งเสริมให้เกิดการซื้อการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่าอุปสรรคที่สำคัญยังเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ยังขาดความตระหนักและการรับรู็ในการเลือกซื้อหรือจำหน่ายสินค้าที่คำนึงถึงปัจจัยด้านประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการประหยัดพลังงานในระยะยาวมากกว่าปัจจัยด้านราคา ทำให้มีการนิยมใช้สินค้าราคาถูกเป็นส่วนใหญ่ (ซึ่งมีคุณภาพต่ำ) หรือยังมีความไม่เชื่อมั่นในการตัดสินใจเลือกใช้สินค้าที่มีการติดฉลากประสิทธิภาพ จึงทำให้มีการส่งเสริมวัสดุอุปกรณ์และสินค้าที่ติดฉลากไม่สามารถขยายตลาดได้เท่าที่ควร รวมทั้งในส่วนผู้จำหน่ายสินค้ายังไม่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับติดฉลากประหยัดพลังงานอย่างทั่วถึง และยังไม่ได้มองเห็นถึงความสำคัญหรือคุณค่าในการขายสินค้าติดฉลากประหยัดพลังงานเท่าที่ควร ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาวิจัยในเรื่อง "การส่งเสริมระบบจำหน่ายสินค้าที่ติดฉลากประสิทธิภาพสูง" เพื่อให้เกิดเป็นกลยุทธ์/แนวทางส่งเสริมระบบจำหน่ายสินค้าที่ติดฉลากแบบเชิงรุกที่ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และสามารถดำเนินการได้จริงต่อไป
ทั้งนี้ ผู้วิจัยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวทางดำเนินการวิจัยนี้ สามารถทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการตัดสินใจในการผลิต การขาย การซื้อและการใช้สินค้าที่ติดฉลากประสิทธิภาพสูงได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีการนำไปใช้ประโยชน์ประกอบการจัดทำแนวนโยบายและกลยุทธ์ที่เหมาะสม สำหรับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในการดำเนินงานตามภารกิจด้านอนุรักษ์พลังงานให้สำเร็จตามเป้าหมายต่อไป