การบริหารและปรับแผนงาน งานปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มกำลังผลิตโครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

โดยนายเธียรชัย สิทธินันทน์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ
กองพัฒนาพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน 

        กระทรวงพลังงาน ได้วางกรอบแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ ที่ให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) ในการตอบสนองต่อปริมาณความต้องการพลังงานที่สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราการเพิ่มของประชากร และอัตราการขยายตัวของเขตเมือง
รวมถึงการกระจายสัดส่วนของเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม (2) ด้านเศรษฐกิจ ( Economy) ที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนพลังงานที่มีความเหมาะสม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (3) ด้านสิ่งแวดล้อม ( Ecology) เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
ภายในประเทศด้วยเทคโนโลยีการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยหนึ่งในแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ คือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ซึ่งจะให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากวัตถุดิบพลังงานทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศให้ได้เต็มตามศักยภาพในเชิงพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม และการพัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อผลประโยชน์ร่วมในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชน งานปรับปรุงประสิทธิภาพและเพิ่มกำลังผลิต โครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่ฮ่องสอน ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการที่อยู่ในแผนการดำเนินงาน ซึ่งกำหนดให้ใช้พลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย
        โครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่ฮ่องสอน เป็นโครงการแรกที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (เดิมชื่อสำนักงานพลังงานแห่งชาติ) ได้พัฒนาใช้ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดชายแดนที่กันดาร หากรัฐบาลจะพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานไฟฟ้าราคาถูก สำหรับจังหวัดนี้แล้ว จะเป็นการกระตุ้นให้มีการพัฒนาด้านการอยู่ดีกินดี การเกษตรกรรม และการอุตสาหกรรมจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในจังหวัดนี้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (พพ.)จึงได้เสนอโครงการนี้ให้รัฐบาลพิจารณา ซึ่งรัฐบาลก็ได้เห็นชอบและมอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานดำเนินการก่อสร้างได้ตั้งแต่ปี 2511 โดยเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชนเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2515 เป็นต้นมา
        จากการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานพลังงาน (พพ.)ได้ดำเนินการพัฒนาพลังงานน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดมา ซึ่งไฟฟ้าถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นย่อมเป็นปัจจัยสะท้อนถึงการพัฒนา และการเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย ขณะเดียวกันกระบวนการผลิต และจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนให้มีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงเชื่อถือได้ มีราคาที่เหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง พลังน้ำเป็นพลังงานที่สะอาด และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำแม่ฮ่องสอนเป็นโครงการที่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2515 จึงเห็นสมควรที่จะมีการพัฒนาปรับปรุงโครงการเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากน้ำและการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผลิตไฟฟ้าก่อนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ
        ต่อมาในปีงบประมาณ 2559 ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงระบบส่งน้ำและติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 2,005 กิโลวัตต์ โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 แล้วเสร็จในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562
  
 

 

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: 
promote: 
level: 
2