โครงการพัฒนาฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ของประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1 ระบบ

รายละเอียด: 


     โครงการพัฒนาฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ของประเทศไทย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 1 ระบบ 

ที่มาของโครงการ
     กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีการเก็บข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย โดยมีสถานีวัดความเข้มรังสีดวงอาทิตย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ กว่า 38 สถานี ติดตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ทำให้มีข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์อยู่จำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่เก็บ ระบบฐานข้อมูล และการจัดการที่ดี รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละสถานีต้องสามารถแสดงผลได้ต่อเนื่อง ถูกต้อง และรวดเร็ว เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ ให้รองรับงานนโยบายของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย กว้างขวาง และครอบคลุมทั้งประเทศ จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ ดังนี้

วัตถุประสงค์
     1)  เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางการเพิ่มสถานีตรวจวัดความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ 
          เพื่อให้ได้ข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
     2)  เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูล
          ความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ ให้มีความทันสมัย เกิดความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
     3)  เพื่อศึกษาพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้งานฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ของประเทศไทย
          ให้มีความหลากหลายและเพิ่มช่องทางการใช้งานให้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

ผลการดำเนินงาน
     หลังจากได้ดำเนินโครงการพัฒนาฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ของประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

    1) การทบทวนข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์
        : ผลการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า ควรคำนึงถึงค่าปริมาณฝุ่นละออง ความชื้นและอุณหภูมิร่วมด้วย เพื่อให้สามารถคำนวณค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และนำมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ดังนั้น ในการจัดเก็บข้อมูลจะมีการจัดเก็บข้อมูลอุณหภูมิ ความชื้น ฝุ่นละออง ปริมาณเมฆ และความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ที่ได้จากสถานีตรวจวัด นอกจากนี้ ได้วิเคราะห์หาพื้นที่ที่เหมาะสมในการขยายสถานีตรวจวัดความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ เห็นว่า พื้นที่ในจังหวัดระยอง และสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ที่ควรจะทำการขยายสถานีตรวจวัดความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ เป็นลำดับแรก 

   2) การวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคในการรับส่งข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์
      : พบว่า มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งข้อมูลที่นำมาพิจารณา 3 ส่วน ได้แก่ อุปกรณ์และการทำงานของอุปกรณ์เดิมที่ติดตั้งอยู่ ณ สถานีตรวจวัดฯ ในปัจจุบัน  ระบบฐานข้อมูลในปัจจุบัน  และ ช่องทางการเข้าถึงข้อมูลและการใช้งานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ในปัจจุบัน


   3) การสืบค้นข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์
     : ผลจากการสืบค้นข้อมูลสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงฐานข้อมูลและแสดงผลข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เพื่อเผยแพร่ได้ เช่น ใช้คำนวณเพื่อการประเมินความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์แบบ Grid connected ที่ติดตั้งอยู่ในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น 


  4) การประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้อง
     : ได้มีการหารือกับ 15 หน่วยงาน จากหน่วยงานภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ ผู้ประกอบการ/นักลงทุนกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และ นักวิชาการ/นักวิจัย/สถาบันการศึกษา และมีการสรุปปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการใช้งาน เช่น รูปแบบของข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ของ พพ. ไม่อยู่ในรูปแบบมาตรฐานที่สามารถนำไปคำนวณหรือใช้งานร่วมกับโปรแกรมทั่วไปได้ เป็นต้น

  5)  การออกแบบโครงสร้างและการพัฒนาระบบฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์
       : มีการพัฒนาให้มีความทันสมัยเหมาะสมกับเทคโนโลยีปัจจุบัน เกิดความคล่องตัวในการใช้งาน มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับฐานข้อมูลด้านพลังงานอื่น ๆ นอกจากนี้ มีการออกแบบหน้าจอสำหรับเว็บแอปพลิเคชันและโมบายแอปพลิเคชั่นด้วย

  6)  การจัดเตรียมเครื่องแม่ข่าย (Server) และการติดตั้งระบบเชื่อมโยงข้อมูลความเข้มรังสีแสงอาทิตย์
       : ได้มีการดำเนินงานจัดเตรียมเครื่องแม่ข่าย และติดตั้งเชื่อมโยงข้อมูลความเข้มรังสีแสงอาทิตย์กับระบบงานเดิมและระบบที่เกี่ยวข้อง

  7) การฝึกอบรมการใช้งาน และการสัมมนาเผยแพร่ผลการพัฒนาระบบฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์
         : มีการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของ พพ. ได้แก่ ผู้ดูแลระบบ เจ้าหน้าที่ด้านไอที และผู้ใช้ระบบ รวม 87 ท่าน ผู้เข้าอบรมจำนวน 54 ท่าน จาก 87 ท่าน มีความพึงพอใจมากทั้งด้านข้อมูลเนื้อหา ด้านการออกแบบ และการจัดรูปแบบเว็บไซต์ และด้านประโยชน์และการนำไปใช้ นอกจากนี้ ได้มีการจัดสัมมนาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการพัฒนาระบบฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ จากหน่วยงานต่าง ๆ รวมกว่า 123 คน

ผู้อ่านที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียด "โครงการพัฒนาฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์และระบบเชื่อมโยงฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ของประเทศไทย"  ได้ที่ไฟล์ด้านล่าง

โดยสามารถเข้าระบบฐานข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ประเทศไทย
ได้ที่   http://www.irradiancedata.dede.go.th:8080/

ปีดำเนินโครงการ: 
เลขที่สัญญา: 
134/64
หน่วยงานที่ดำเนินโครงการ: 
เครือข่าย/หน่ายงานรับผิดชอบโครงการ: 
หมวดหมู่: