การบริหารจัดการเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) และข้อมูลด้านพลังงานภายใต้ระบบ การจัดการพลังงานตามกฎหมายของอาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ

โดย นายพิชชา สุทธิกุล นักวิชาการพลังงานชำนาญการ
กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

          อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ เป็นอาคารที่มีการออกแบบให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นการออกแบบด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน และเน้นการพึ่งพาธรรมชาติจากสภาวะแวดล้อมรอบอาคารเป็นหลัก  ดังนั้นการบริหารจัดการทรัพยากรทางด้านพลังงานของอาคารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะ และองค์ความรู้เชิงวิศวกรรมขั้นสูง โดยเฉพาะการบริหารจัดการการทำงานและการบำรุงรักษาของเครื่องทำน้ำเย็น (Chiller) ขนาด 219 ตัน จำนวน 2 เครื่อง ที่มีการติดตั้งใช้งานภายในอาคารมาแล้วราว 20 ปี ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรที่มีการใช้พลังงานสูงสุดของอาคาร (ร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานรวมทั้งอาคาร) โดยเครื่องทำน้ำเย็นนั้นจะมีการใช้งานร่วมกับ Ice Storage ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งบนหลังคาของอาคาร เพื่อลดการใช้พลังงานของเครื่องทำน้ำเย็น

          นอกจากนี้อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติยังถือเป็นอาคารควบคุมตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอาคารควบคุม พ.ศ.2538 เนื่องจากมีการติดตั้งหม้อแปลงภายในอาคารรวมกัน 2,000 kVA จึงต้องมีการจัดทำระบบการจัดการพลังงาน 8 ขั้นตอนตามกฎหมาย โดยผู้เขียนได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานฝ่ายเทคนิคซึ่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลทางด้านพลังงาน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้านพลังงานในมิติต่าง ๆ เพื่อค้นหาศักยภาพในการอนุรักษ์พลังงานของอาคาร (ขั้นตอนที่ 4 การประเมินศักยภาพการอนุรักษ์พลังงาน แบ่งเป็นระดับองค์กร ระดับผลิตภัณฑ์และการบริหาร และระดับเครื่องจักรอุปกรณ์) รวมทั้งกำหนดแผนการดำเนินการมาตรการอนุรักษ์พลังงาน และติดตามผลการดำเนินการ (ขั้นตอนที่ 5 การกำหนดเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน ขั้นตอนที่ 6 การติดตามผลการดำเนินการตามเป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน) เพื่อรายงานต่อประธานคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานของอาคารและจัดทำรายงานการจัดการพลังงานส่งตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลให้อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติมีการปฏิบัติตามกฎหมายอนุรักษ์พลังงานอย่างถูกต้อง และครบถ้วน เกิดผลประหยัดที่เป็นรูปธรรม โดยปี 2564 อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติมีผลประหยัด 17,793.75 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี หรือ 71,175.00 บาท/ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 3.72 เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานในรอบปี 2563

 

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: 
promote: