Russia-Ukraine Crisis: Implications for Global Oil & Gas Markets… How Reliant Is The World on Russia Oil & Gas?

บทความ เรื่อง Russia-Ukraine Crisis: Implications for Global Oil & Gas Markets…

How Reliant Is The World on Russia Oil & Gas?

ในขณะที่รัสเซียและยูเครนกำลังทำสงครามกัน ตลาดพลังงานโลกก็กำลังปั่นป่วนเนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรและลดการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย PTIT ได้รวบรวมประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้

- ราคาน้ำมันดิบ Brent สูงขึ้นแตะ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากการสถานการณ์สู้รบอันดุเดือดของรัสเซียและยูเครน ราคาน้ำมันดิบในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 101 ดอลลาร์/บาร์เรล (ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน) ในวันที่ 2 มีนาคม 2565  ราคาซื้อ-ขายน้ำมันดิบโลกสูงถึง 110 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 ในวันที่ 8 มีนาคม 2565 ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นไปถึง 130 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียและบางบริษัทลังเลที่จะซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซีย การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันโลกในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้พื้นฐานของตลาดหดตัวและเกิดข้อห่วงกังวลในประเด็นดังนี้ (1) การฟื้นฟูอุปสงค์ของน้ำมันโลก (2) การที่ประเทศ OPEC+ ผลิตน้ำมันได้น้อยกว่าแผนการผลิตที่ตกลงกันไว้ (3) น้ำมันดิบและน้ำมันสำรองของประเทศในกลุ่ม OECD กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง (4) กำลังการผลิตน้ำมันดิบสำรองที่เสื่อมลงตามสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จะชะลอการผลิต (5) อุปสงค์น้ำมันเพิ่มมากขึ้นจากผลของราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้น เนื่องด้วยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าทดแทนกันได้

- รัสเซียเป็นประเทศมหาอำนาจทางพลังงานโลก รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก ในปี 2559 รัสเซียได้ประกาศร่วมมือกับกลุ่มประเทศสมาชิก OPEC ปี 2564 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติมากที่สุดในโลก ส่งออกไปทั้งหมด 8.9 พันล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็น 36% ของการผลิตของประเทศ โดยที่กลุ่มประเทศที่นำเข้ามากสุด คือ กลุ่มประเทศ OECD ในยุโรป โดยเฉพาะเยอรมัน ตุรกี อิตาลี และฝรั่งเศส อีกทั้งรัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย รัสเซียส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลวไปทั้งหมด 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 46% ของการผลิตของประเทศ โดยจีนเป็นประเทศที่นำเข้ามากที่สุด นอกจากนี้รัสเซียยังเป็นผู้ส่งออกถ่านหินมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ส่งออกถ่านหินทั้งหมด 262 ล้านช็อตตัน โดยจีนเป็นประเทศที่นำเข้ามากที่สุด ยิ่งกว่านั้น รัสเซียมีปริมาณน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดยเมื่อสิ้นปี 2563 มีปริมาณ 108 พันล้านบาร์เรล คิดเป็น 6.2% ของปริมาณน้ำมันสำรองทั้งโลก มีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองมากที่สุดของโลก มีปริมาณ 1,320 พันล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็น 19.9% ของปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองทั้งโลก มีปริมาณถ่านหินสำรองเป็นอันดับ 2 ของโลก มีปริมาณ 162 พันล้านตัน คิดเป็น 15.1% ของปริมาณถ่านหินทั้งโลก  

 - ยุโรปเป็นประเทศปลายทางที่สำคัญของน้ำมันรัสเซีย ในปี 2564 รัสเซียผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว 10.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (14% ของการผลิตน้ำมันโลก) รัสเซียส่งออกทั้งหมด 4.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยส่งไปยุโรปประมาณ 60% และเอเชียประมาณ 35% โดยน้ำมันดิบที่ส่งออกหลัก คือ น้ำมันอูราล (Urals Blend) ทั้งนี้ การส่งออกน้ำมันของรัสเซียสามารถส่งออกได้หลายทาง อาทิ ผ่านทะเลบอลติก ทะเลดำ และน่านน้ำของญี่ปุ่น รัสเซียยังมีท่อขนส่งน้ำมันหลัก 2 ท่อ ได้แก่ (1) ท่อขนส่งน้ำมัน Druzhba ซึ่งทางเหนือจะส่งน้ำมันลอดผ่านเบลารุสไปถึงโปแลนด์และเยอรมัน ส่วนทางใต้จะขนน้ำมันดิบไปโรงกลั่นที่ฮังการี สโลวะเกีย และสาธารณรัฐเช็ก (2) ท่อขนส่งน้ำมัน Eastern Siberia Pacific Ocean (ESPO) ซึ่งรัสเซียใช้ส่งน้ำมันไปสู่ตลาดเอเชีย โดยจีนได้นำเข้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของการนำเข้าทั้งหมดของเอเชีย นอกจากน้ำมันดิบแล้ว รัสเซียซึ่งมีประสิทธิภาพในการกลั่นน้ำมันเป็นอันดับ 2 ของโลก ยังได้ส่งน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันเชื้อเพลิงให้ยุโรปอีกด้วย

- ยุโรปมีความเกี่ยวพันธ์กับก๊าซธรรมชาติของรัสเซียอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าจะมีความผันผวนตามฤดูกาล แต่การผลิตก๊าซธรรมชาติของยุโรปในระยะยาวกลับลดลงเนื่องจากข้อจำกัดของแหล่งก๊าซ Groningen ในเนเธอร์แลนด์และการลดลงของแหล่งก๊าซธรรมชาติในทะเลเหนือ ยุโรปสามารถเก็บสะสมก๊าซธรรมชาติสำรองไว้ได้มากถึง 100 พันล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับ 20% ของอุปสงค์รายปีของภูมิภาค ในช่วงปลายปี 2564 – ต้นปี 2565 แม้ว่าอุณหภูมิจะไม่หนาวนักและมีการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างระมัดระวัง แต่ปริมาณก๊าซที่เก็บไว้ยังเหลือน้อยกว่า 10% จากที่ควรจะเป็นในสถานการณ์ปกติ ส่งผลให้การทนต่อการลดทอนการนำเข้าก๊าซจากรัสเซียในช่วงเวลาที่ปริมาณก๊าซในคลังของยุโรปเองยังลดลงต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เนื่องจากยุโรป สามารถผลิตก๊าซใช้เองได้เพียงแค่ประมาณ 15% เท่านั้น และอีก 85% ที่เหลือยุโรปต้องนำเข้าทั้งหมด ซึ่ง 45% นำเข้ามาจากรัสเซีย

- LNG จะช่วยยุโรปให้พ้นวิกฤตได้หรือไม่ ? ในปี 2564 ยุโรปนำเข้า LNG จาก สหรัฐอเมริกา 26% กาตาร์ 24% และรัสเซีย 20% ด้วยอุปทานก๊าซธรรมชาติของยุโรปที่ถูกจำกัด ก๊าซธรรมชาติที่สำรองไว้มีน้อย และความแตกต่างกันค่อนข้างมากของราคาก๊าซในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ยุโรปเพิ่มปริมาณการนำเข้า LNG จากสหรัฐฯ มากขึ้น แม้ว่ายุโรปจะมีศักยภาพในการแปรสภาพ LNG จากของเหลวให้กลับเป็นก๊าซ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสัญญาการขนส่ง ศักยภาพการเปลี่ยนก๊าซเป็นของเหลวโลก และการแข่งขันกับตลาดเอเชีย ทำให้ยุโรปอาจเพิ่มปริมาณการนำเข้าได้ไม่มากนัก

          ปัญหาด้านอุปทานของตลาดก๊าซในยุโรปส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น ราคาก๊าซธรรมชาติ TTF เฉลี่ยอยู่ที่ 28.52 USD/MMBTU คำนวณระหว่างเดือนสิงหาคม 2564 ถึงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยมีราคาสูงที่สุดในวันที่ 21 ธันวาคม 2564 เท่ากับ 60.20 USD/MMBTU ในอดีตราคาซื้อ-ขายก๊าซธรรมชาติในยุโรปจะถูกกว่าตลาดเอเชีย แต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาราคาก๊าซในยุโรปเกือบเท่ากับราคาก๊าซในเอเชีย ไม่แน่บางวันราคาในยุโรปอาจสูงกว่าของเอเชียด้วยซ้ำเพื่อดึงดูดอุปทานของก๊าซธรรมชาติเข้าสู่ภูมิภาค

 

อ้างอิง: PTIT FOCUS Vol.36 No.1 P.44 January – March 2022

 

 

promote: