Energy-related emissions reach all-time high

Energy-related emissions reach all-time high

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) รายงานว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในภาคพลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6% ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 36.3 พันล้านตัน เนื่องจากตลาดต้องใช้พลังงานถ่านหินในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

IEA ระบุว่า ทั่วโลก มีปริมาณการปล่อย CO2 มากกว่า 2 พันล้านตันเพื่อชดเชยการลดลงของอุปสงค์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด นอกจากนี้ สภาพอากาศแปรปรวนและความผันผวนของตลาดพลังงาน ทำให้อุปสงค์พลังงานทั่วโลกเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ผลักดันให้เราใช้ถ่านหินมากขึ้นตามไปด้วย ปริมาณการปล่อย CO2 ที่ได้จากถ่านหิน จำนวน 15.3 พันล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 40% ของการปล่อย CO2 ทั้งหมด ในขณะที่ปริมาณการปล่อย CO2 ของก๊าซธรรมชาติมีการเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 7.5 พันล้านตัน ซึ่งมากกว่าปี 2563 ส่วนปริมาณการปล่อย CO2 ของน้ำมันอยู่ที่ 10.7 พันล้านตัน ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับในช่วงก่อนเกิดโรคระบาดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการฟื้นตัวอย่างจำกัดในธุรกิจด้านการขนส่งทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการบิน

การใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าในปี 2564 ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้น ในปี 2564 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลายแห่งนั้นต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติค่อนข้างมาก การเปลี่ยนมาใช้ถ่านหินแทนก๊าซธรรมชาติส่งผลให้ปริมาณการปล่อย CO2 จากการผลิตไฟฟ้าสูงกว่า 100 ล้านตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดระหว่างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าถ่านหิน

จีนเป็นหนึ่งในตัวการหลักที่ทำให้ปริมาณการปล่อย CO2 เพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณการปล่อยก๊าซของจีนเพิ่มขึ้น 750 ล้านตันระหว่างปี 2563-2564 อีกทั้ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จีนเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซในจีนเกิดจากความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนต้องเผชิญกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เกือบ 700 เทราวัตต์-ชั่วโมง (terawatt-hour: TWh) ซึ่งทำให้จีนต้องพึ่งพาพลังงานจากถ่านหิน โดยถ่านหินถูกใช้เพื่อตอบสนองอุปสงค์มากกว่าครึ่งหนึ่ง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการไฟฟ้ามากเกินกว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำ ซึ่งในปี 2564 การปล่อย CO2 ของจีนเพิ่มขึ้นถึง 11.9 พันล้านตัน คิดเป็น 33% ของการปล่อย CO2 ทั่วโลก

นอกจากจีนแล้ว อินเดียก็มีการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2563 ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มลดปริมาณการปล่อย CO2 เช่น สหรัฐอเมริกาปล่อย CO2 ลดลง 4% จากปี 2563 สหภาพยุโรปลดลง 2.4% และญี่ปุ่นลดลง 3.7%

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา ทั่วโลกยังคงผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานนิวเคลียร์มากกว่าถ่านหิน โดยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์สูงกว่า 8,000TWh ซึ่งมากกว่าการผลิตในปี 2563 อยู่ 500TWh

 

ที่มา: Asian Power Issue No. 104 P. 6, 30 June 2022

 

promote: