การวิเคราะห์กฎระเบียบและปัญหา ของการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาจากแสงอาทิตย์ (PVRooftop)ในประเทศไทย

 

บทนำ

       การที่เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้อุปสงค์การใช้ไฟฟ้าของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก และทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าตาม โดยในช่วงสามปีที่ผ่านมาความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในปริมาณมาก เพราะถึงแม้ประเทศไทยจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติภายในประเทศได้มาก แต่ในปี 2554 ก็ยังต้องนำเข้าเกือบ 25% ของอุปทานก๊าซธรรมชาติ และมากกว่า 50% ของอุปทานพลังงานชั้นต้น (วัดปริมาณเป็นตันที่เทียบเท่ากับน้ำมัน)

       ทางรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการที่จะต้องเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และได้กำหนดแนวทางหลายๆ ทางในการจะบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือการเพิ่มความหลากหลายของพลังงานที่ใช้ด้วยการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ ซึ่งภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไทยได้ตั้งหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนเป็น 25% ของการใช้พลังงานทั้งประเทศภายในปี 2565

       หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายข้างต้นได้ก็คือการเร่งนำเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าดว้ยเซล์แสงอาทิตย์ (PV) มาใช้ ซึ่งในปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิตที่ต่ำเพียงแค่ไม่ถึง 1.5% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม ในการนี้ประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการโครงการให้ความสนับสนุนการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดเล็กบนหลังคาไปแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทางเลือกโดยเฉพาะ solar PV ในประเทศไทยเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ได้ ทาง GIZ โดยผ่านโครงการ Project Development Programme (PDP) South-East Asia จึงทุ่มความสนับสนุนให้กับรัฐบาลไทยในการที่จะพัฒนาอนาคตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ภายใต้กรอบการดำเนินการของโครงการนี้ GIZ ตั้งเป้าที่จะระบุถึงขั้นตอนของการแผนพัฒนาการติดตั้งระบบ rooftop solar PV ในปัจจุบัน รวมถึงปัญหาในด้านต่างๆ  ซึ่งฉุดให้การดำเนินการต้องช้าลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามโครงการ

       หนึ่งในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับโครงการดังกล่าว ก็คือการเก็บรวมรวมประสบการณ์และบทเรียนที่ได้จากการพัฒนาโครงการที่ประสบความสำเร็จในยุโรปซึ่งอาจช่วยให้ประเทศไทยสามารถปรับปรุงกรอบการดำเนินงานให้ราบรื่นขึ้น GIZ ได้ร่วมงานกับบริษัทที่ปรึกษา eclareon GmbH ในการแบ่งปันประสบการณ์จากโครงการ PV LEGAL ในยุโรป ซึ่งทาง eclareon ดำเนินการภายใต้การนำของ German Solar Association (BSW-Solar) ในช่วงปี 2552-2555 ทั้งนี้โครงการ PV LEGAL เป็นความริเริ่มของประเทศต่างๆ 12 ชาติ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์ในยุโรปหลายแห่ง โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ผ่านโครงการ Intelligent Energy Europe ซึ่งเป้าหมายของความริเริ่มนี้ก็คือเพื่อวิเคราะห์และประเมินกระบวนการบริหารจัดการระบบการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ของประเทศในกลุ่ม EU ทั้ง 12 โดยระบุถึงปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางการเร่งพัฒนาระบบ PV รวมไปถึงการเสนอและเผยแพร่วิธีการในการที่เอาชนะอุปสรรคและปัญหาเหล่านั้น ด้วยความสนับสนุนอย่างดียิ่งจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และความเปิดกว้างของผู้มีอำนาจตัดสินใจทางการเมืองและผู้ประกอบการสายส่งไฟฟ้า โครงการ PV LEGAL จึงสามารถที่จะบรรลุเป้าประสงค์และเอาชนะอุปสรรคด้านการบริหารจัดการหลายๆ ประการได้ในช่วงที่มีการดำเนินโครงการ โดยรวมแล้วถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และได้ถูกพัฒนาต่อมาเป็นโครงการ PV GRID ซึ่งทำการประเมินวิธีการในการที่ต่อเชื่อมไฟฟ้าที่ผลิตโดยระบบ PV เข้ากับระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการนำวิธีการบางส่วนที่ใช้ในโครงการ PV LEGAL ไปบรรจุไว้ในโครงการ Solar Guidelines India ซึ่งในโครงการนี้ eclareon ในนามของ GIZ ได้ทำการวิจัย ตรวจสอบ และนำเสนอกระบวนการและปัญหาของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ในอินเดีย

        ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์กรอบกฎเกณฑ์ และปัญหาในการพัฒนา rooftop solar PV ในประเทศไทย GIZ จึงได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพลังงานจัดการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) เรื่อง “การขจัดอุปสรรคของระบบ PV Rooftop” เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ที่กรุงเทพฯ (ต่อไปจะเรียกการสัมมนานี้ว่า “workshop กรุงเทพฯ”) โดยใน workshop นี้ได้รวบรวมผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ จำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการ solar rooftop ในประเทศไทย ซึ่งในช่วงแรกของการสัมมนา ผู้เข้าร่วมสัมมนามีโอกาสได้รับฟังการอัพเดตข้อมูลจาก กกพ. และ กฟภ. เกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการและการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการ rooftop solar PV projects ในประเทศไทย รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้สมัครล่าสุด และโครงการที่ได้รับอนุมัติจากการประมูลรอบแรก นอกจากนี้ กกพ. ยังได้นำเสนอผลเบื้องต้นที่ได้จากการวิจัยภายในเกี่ยวกับปัญหาที่อยู่ในขั้นตอน และกฎระเบียบต่างๆ  พร้อมทั้งให้แนวทางการปรับปรุงการดำเนินการในด้านต่างๆ สำหรับการเปิดประมูลโครงการ rooftop solar รอบใหม่

        ในช่วงที่สองของการสัมมนา ผู้เขียนมีโอกาสได้นำเสนอผลงานวิจัยของ eclareon เกี่ยวกับกฎระเบียบและปัญหาของการพัฒนา rooftop solar PV ในประเทศไทย โดยได้มีการขอให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการวิจัย และ/หรือ แจ้งถึงปัญหาอื่นๆ ซึ่งพวกเขาคิดว่ามีความสำคัญต่อการวิเคราะห์

          รายงานต่อไปนี้เป็นการสรุปสิ่งที่ได้พบจาก workshop กรุงเทพฯ และการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายหลัง workshop โดยในบทแรกจะเป็นการแนะนำแนวคิดทั่วๆ ไปเกี่ยวกับกระบวนการบริหารจัดการและปัญหาซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการดังกล่าว โดยจะมีการอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมอุปสรรคของการบริหารจัดการจึงควรที่จะได้รับการแก้ไข โดยอาศัยการประเมินทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ บทที่สองจะพูดถึงกระบวนการบริหารจัดการ และระบุถึงปัญหาในประเทศไทย ซึ่งหลังจากการเล่าสั้นๆ ถึงลักษณะเฉพาะสำหรับกรณีของประเทศไทยแล้ว ก็จะพูดถึงลำดับขั้นตอนของกระบวนการในการติดตั้งระบบ PV rooftop ปัญหา และคำแนะนำที่เป็นไปได้

          รายงานฉบับนี้เกิดขึ้นได้จากข้อมูลที่เป็นประโยชน์จำนวนมากที่ได้จากผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ ทั้งโดยการสัมภาษณ์ และใน workshop ผู้เขียนต้องขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญที่ให้สัมภาษณ์ทุกท่านสำหรับข้อมูลที่มีค่าและการให้ความสนับสนุนกับการศึกษาครั้งนี้

          ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนยังอยากขอบคุณทีมงานของ GIZ ที่สำนักงานในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณ Thomas Chrometzka สำหรับการให้ความสนับสนุนในด้านต่างๆ และข้อคิดเห็นที่มีคุณค่าทั้งก่อน ระหว่างและหลัง workshop...... อ่านต่อ ฉบับสมบูรณ์ ด้านล่าง

 

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: 
AttachmentSize
PDF icon PV analysis.pdf470.74 KB