สถานภาพการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตพลังงานในประเทศไทย
1. ประเด็นที่เป็นข้อกังวล
1.1 การขึ้นราคา หรือปรับราคาเชื้อเพลิง หรือตรึงราคา
การผลิตพลังงานชีวมวล มีแนวคิดจากการนำของเหลือใช้จากวัสดุการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่า ดังนั้นหากเชื้อเพลิงชีวมวลมีราคาสูงขึ้น จะทำให้ค่าการลงทุนระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลไม่คุ้มต่อการลงทุน และไม่สามารถแข่งขันกับตลาดเชื้อเพลิงฟอสซิลได้
1.2 การขาดแคลนเชื้อเพลิงชีวมวล
เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานอุตสาหกรรมได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวมวล แต่ปริมาณชีวมวลไม่ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้น อาจเนื่องจากพื้นที่การเกษตรมีจำกัด พฤติกรรมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกของเกษตรกร โดยจะหันไปเพาะปลูกพืชที่มีราคาสูง ทำให้ยกเลิกการเพาะปลูกพืชชนิดเดิม หรือแม้กระทั่งการประสบภัยพิบัติอันจะส่งผลให้พื้นที่การเกษตรเสียหาย ซึ่งจะก่อให้เกิดการแย่งเชื้อเพลิงส่งผลให้เชื้อเพลิงมีราคาสูงในขั้นแรก และนำไปสู่การขาดแคลนเชื้อเพลิงในลำดับต่อมาได้
1.3 การต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล
ปัญหาการต่อต้านของชุมชนในพื้นที่รอบโครงการ เป็นผลมาจากผู้พัฒนาโครงการละเลยการชี้แจงและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลให้แก่ชุมชนในพื้นที่ ประกอบกับเคร่งครัดในการดำเนินการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมของโรงไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด โดยที่โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่มีขนาดใหญ่บางแห่งมีกำลังการผลิตไม่สอดคล้องกับศักยภาพชีวมวลและฐานทรัพยากรในท้องถิ่น รวมไปถึงมีโอกาสก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่าโครงการขนาดเล็ก จึงทำให้ได้รับแรงต่อต้านจากชุมชนในพื้นที่ของโครงการค่อนข้างมาก
1.4 เทคโนโลยี
เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีระบบค่อนข้างซับซ้อนต้องอาศัยการคิดสังเกต ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินเครื่อง จึงจะสามารถทำให้ระบบเดินเครื่องผลิตพลังงานได้อย่างต่อเนื่องและได้ค่าพลังงานตามที่กำหนด แต่เนื่องจาก การส่งเสริมการผลิตพลังงานชีวมวลในระดับชุมชน ผู้รับผิดชอบระบบ ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้และดูแลรักษาระบบ ทำให้ระบบฯ ชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้การได้ และเกิดเจตคติ ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อผลิตพลังงาน เป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป
1.5 การบริหารจัดการ
ในการส่งเสริมการผลิตพลังงานชีวมวลยังประสบกับปัญหาต่าง ๆ เช่น
1) ด้านกฎหมาย ขั้นตอน และระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าเข้ากับระบบสายส่งเพื่อจำหน่าย รวมทั้ง
2) มาตรการจูงใจในปัจจุบัน เช่น ราคารับซื้อไฟฟ้า ยังไม่จูงใจเท่าที่ควร
3) ผู้ประกอบกิจการเครื่องจักร อุปกรณ์ระบบผลิตพลังงานในประเทศมีจำกัด
4) พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านแหล่งชีวมวล แต่มีข้อจำกัดด้านสายส่ง
1.6 การลงทุนโครงการ
ในการส่งเสริมการผลิตพลังงานชีวมวลตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี มุ่งส่งเสริมโรงไฟฟ้าระดับชุมชน ซึ่งจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่ม เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนการลงทุน ซึ่งการลงทุนโรงไฟฟ้าระดับชุมชนที่มีขนาดไม่เกิน 1 เมกกะวัตต์ จะมีเงินลงทุนค่อนข้างสูง และมีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน
2. สถานภาพปัจจุบัน / สิ่งที่ได้ดำเนินการแล้ว
2.1 ความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
ตามที่กระทรวงพลังงานมีอำนาจหน้าที่และหน้าที่และภารกิจรับผิดชอบในการจัดหา พัฒนา และบริหารจัดการพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และ จากยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงาน (พ.ศ.2555-2559) ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานที่สะอาด โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้พลังงานทดแทนสามารถทดแทนพลังงานฟอสซิลได้มากขึ้น มีการใช้ในระดับชุมชนอย่างทั่วถึง มีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน และรวมทั้งส่งเสริมให้คนไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในระดับที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
พพ. ได้ส่งเสริม ผลักดัน ให้มีการผลิตและใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์บรรลุเป้าหมาย จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาเพื่อวางแผน และกำหนดแนวทาง นโยบาย มาตรการส่งเสริมสนับสนุนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลให้มีราคาที่เหมาะสม มีปริมาณที่พอเพียงสำหรับผู้ผลิตและใช้พลังงานชีวมวล และทำการศึกษาเพื่อปรับปรุงระบบผลิตพลังงานจากชีวมวลให้มีการใช้งานและดูแลรักษาที่ง่ายขึ้นพร้อมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับชาวบ้านที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลระบบด้วย นอกจากนี้ ควรมีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานชีวมวล เพื่อคอยติดตามการดำเนินงานพัฒนาใช้เชื้อเพลิงชีวมวลผลิตพลังงานในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่บานปลายจนเป็นเหตุให้เกิดการต่อต้านในภายหลัง
2.2 การดำเนินงานในปัจจุบัน
พพ. ได้ดำเนินการศึกษา รวบรวมข้อมูล เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูล แนวทาง สำหรับการวางแผนในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลให้สอดคล้องกับการส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ชีวมวลให้ได้ตามเป้าตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี ดังนี้
- ปีงบประมาณ 2554 ดำเนินการศึกษากำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้ชีวมวลแบบผลิตพลังงานความร้อนตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (ชื่อเดิมซึ่งได้ดำเนินโครงการก่อนการปรับแผน 15 ปี เป็น 10 ปี)
- ปีงบประมาณ 2554 ดำเนินโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทย
ในส่วนของการติดตามปัญหาการต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล พพ. ได้ดำเนินดังนี้
- ปีงบประมาณ 2553 ดำเนินการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการมีส่วนร่วมรับรู้ของภาคประชาชนต่อโครงการพลังงานชีวมวล
- ปีงบประมาณ 2554 เจ้าหน้าที่ พพ. ได้พบปะกับชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการคัดค้าน เช่น ประจวบคีรีขันธ์
นอกจากนี้ พพ. ยังได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวลชุมชนแบบครบวงจร โดยคาดว่าผลของการศึกษานี้จะได้รูปแบบของการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลระดับชุมชนขนาดไม่เกิน 1 เมกกะวัตต์ มีรูปแบบของการบริหารจัดการที่สามารถนำไปใช้ดำเนินโครงการได้ และเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปได้
3. ปัญหาอุปสรรค
3.1 ขาดข้อมูลที่ทันสมัยสำหรับวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวลยังไม่แล้วเสร็จ และข้อมูลมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
3.2 เกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบข้อมูลสถิติ ปริมาณชีวมวลในปีก่อนหน้านั้น ทำให้การส่งเสริมต้องมีการปรับเปลี่ยน
3.3 ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่นในข้อมูลของภาครัฐ จึงไม่ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ภาครัฐให้ไว้
3.4 พฤติกรรมเพาะปลูกการเกษตรไม่มีความแน่นอนขึ้นอยู่กับราคาของประเภทผลผลิต ณ ขณะนั้น ทำให้ไม่สามารถยืนยันปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะได้ในปีนั้น ๆ ว่าจะสามารถเพียงพอกับโรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ชีวมวลเดิม หรือ โรงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้หรือไม่
3.5 ชาวบ้านยังยึดติดกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยไม่เปิดรับข้อมูลใหม่ ๆ ที่ภาครัฐได้ผลักดันให้โรงไฟฟ้าดำเนินการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม
3.6 ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง ในการลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการ และการพัฒนาโรงไฟฟ้าชีวมวลในแต่ละแห่ง
4. สิ่งที่จะทำต่อไป
4.1 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี ได้กำหนดแผนการส่งเสริมพลังงานชีวมวล ดังนี้
1) ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง โดยการส่งเสริมให้มีการจัดตั้ง “สถานีผลิตพลังงานชุมชน”
2) ปรับมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนจากภาคเอกชนให้เหมาะสม
3) ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อรองรับการพัฒนาโครงการชีวมวล
4) ประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน
5) ส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร ตัวอย่างเช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพลังงานจากชีวมวล เทคโนโลยีการแปรรูปเชื้อเพลิงชีวมวล เป็นต้น
4.2 การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความกังวล ที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาพลังงานชีวมวล จึงควรมีการดำเนินงานดังนี้
1) จัดเก็บข้อมูลปริมาณผลผลิตทางการเกษตรให้มีความทันสมัยและจัดเก็บเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลชีวมวล
2) วางแผนกำหนดปริมาณ พื้นที่ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล (Zoning)
3) ศึกษาปัญหาอุปสรรคในการส่งเสริมให้เกิดการเพิ่มปริมาณเชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตพลังงาน และหาแนวทางแก้ไข
4) ศึกษาการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ เช่น ยอดอ้อย ใบอ้อย มาแปรรูปโดยการอัดเม็ด ก่อนทำการขนส่งไปยังโรงไฟฟ้าชีวมวล
5) ปรับปรุงประสิทธิภาพหม้อไอน้ำชีวมวลให้มีความเหมาะสมกับกำลังการผลิตและการใช้พลังงาน
6) พัฒนาเทคโนโลยีชีวมวลให้มีความสะดวก ง่าย ไม่ซับซ้อน และมีหลายขนาด เพื่อให้เหมาะสมใน แต่ละพื้นที่
7) เผยแพร่ ถ่ายทอดความรู้ด้านชีวมวลให้กับทุกภาคส่วน และสร้างเครือข่ายชีวมวล
Attachment | Size |
---|---|
![]() | 289.64 KB |
![]() | 64.95 MB |