การรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา

Solar PV Rooftop พลังงานทางเลือกในอนาคต ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เองตามอาคาร บ้านเรือน ซึ่งกระทรวงพลังงานตั้งเป้าส่งเสริมให้ได้ 1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2557

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานสะอาดอีกประเภทหนึ่ง และมีอยู่อย่างไม่จำกัด ซึ่งกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริม และได้ปรับแผนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) จาก 2,000 เมกะวัตต์ หรือ 2,628 ล้านหน่วย เป็น 3,000 เมกะวัตต์ หรือ 3,942 ล้านหน่วย

และเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้มีการสนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อทดแทนโรงงานประเภท Peaking Plant ลดการลงทุนของภาครัฐ ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า ณ Load Center เป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

โดยมีการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา 3 กลุ่ม และกำหนดให้ขายไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (Fit) ได้แก่ กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ที่มีขนาดน้อยกว่า 10 kWp (kilowatt peak) อัตรา Fit 6.96 บาท/หน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีขนาดน้อยกว่า 250 kWp อัตรา Fit 6.55 บาท/หน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง–ใหญ่/โรงงาน ที่มีขนาดน้อยกว่า 1,000 MWp อัตรา Fit 6.16 บาท/หน่วย โดยมีระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี ส่วนกลุ่มที่มีขนาดมากกว่า 1 MWp ยังไม่ได้มีการพิจารณา

รูป 1 กลุ่มผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลแสงอาทิตย์บนหลังคา

ทั้งนี้ พพ. ได้ประเมินต้นทุนการลงทุนของแต่ละกลุ่ม ดังแสดงในตารางที่ 1 และ สนพ. ได้ประเมินตัวเลขทางการเงิน ดังแสดงในตารางที่ 2

สำหรับในปี 2556 จะมีการรับซื้อไฟฟ้ารูปแบบ FiT ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 200 MWp ประกอบด้วย กลุ่มบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 100 MWp กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็กและอาคารธุรกิจขนาดกลาง–ใหญ่/โรงงาน ขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวมกัน 100 MWp โดยให้มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date, COD) แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2556 และใช้วิธีการหักลบหน่วย (Net Metering) รวมถึงการลดภาษีรายได้

ทั้งนี้ พพ. ได้ตั้งเป้าหมายที่จะติดตั้งระบบไฟฟ้าเซลแสงอาทิตย์บนหลังคาให้ได้ 1,000 MW ในระยะเวลา 10 ปี โดยในปี 2557 พพ. จะสนับสนุนเพิ่มเติมแก่หน่วยงานราชการมีขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 25 MW สำหรับหลังคาอาคารศาลากลางจังหวัด หลังคาอาคารของรัฐ เช่น อบต. อบจ. เป็นต้น ทั้ง 74 จังหวัด ระยะเวลา 12 เดือน ใช้งบประมาณ 1.847 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานได้ 36.5 kWh/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 146 ล้านบาท/ปี (คิดค่าไฟฟ้าที่ 4 บาท/หน่วย) ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 11 ล้านลิตร/ปี หรือประมาณ 330 ล้านบาท/ปี (คิดราคาน้ำมันดีเซล 30 บาท/ลิตร) รวมไปถึงลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ลดการปล่อย CO2 ได้ประมาณ 18,900 ตัน/ปี ลดการปล่อย Sox ได้ประมาณ 5 ตัน/ปี และลดการปล่อย Nox ได้ประมาณ 52 ตัน/ปี

การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ จึงเป็นอนาคตที่น่าจะสดใสของประเทศไทย เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการช่วยทำให้เกือบทุกอาคารภาครัฐ บ้านเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้เองในอนาคต และแน่นอนว่าก็ต้องเป็นการลดการพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศในที่สุด

รูปหน้าแรก

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: 
AttachmentSize
PDF icon kb00_a109_Solar PV Rooftop (TH).pdf444.88 KB