พพ.เผยพลังงานทดแทนภาพรวมได้ 11% แล้ว

พพ.เดินหน้าพลังงานทดแทนให้ได้ 25% พร้อมผลักดัน พ.ร.บ.พลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในอนาคต

หลังจากที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) (Alternative Energy Development Plan: AEDP 2012-2021) เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนให้เพิ่มมากขึ้น ทดแทนการใช้พลังงานหลักอย่างฟอสซิล ซึ่งการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพลังงานทดแทนยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความไม่สม่ำเสมอของพลังงาน และต้นทุนราคาที่สูงกว่าพลังงานหลัก ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องให้การสนับสนุน เพื่อให้การใช้พลังงานแพร่หลายมากขึ้น

              ปัจจุบันการใช้พลังงานทดแทนของประเทศอยู่ที่ประมาณ 11% และตั้งเป้าว่าในปี 2560 จะขยายตัว 17-18% เพื่อให้การใช้พลังงานทดแทนไปสู่เป้าหมายในปี 2564 ที่ 25% เนื่องจากประเทศไทยมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณกว่า 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ   โดยพลังงานทดแทนหลายประเภทที่มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการส่งเสริมของรัฐบาล โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ตั้งเป้าหมายในระยะยาวปี 2564 ที่ 3,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โซลาร์ฟาร์ม 1,400 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อป 800 เมกะวัตต์ และเซลล์แสงอาทิตย์ชุมชน 800 เมกะวัตต์ ส่วนในระยะสั้นคือสิ้นปี 2556 นี้จะต้องได้ 630 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 529 เมกะวัตต์ โดยได้มีการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น รวมถึงได้มีการส่งเสริมให้มีการติดตั้งโซลาร์เซลในชนบทที่ห่างไกลและในพื้นที่ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้

ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พพ.จะมุ่งเน้นไปที่โซลาร์รูฟท็อป โดยจะมีโครงการนำร่องติดตั้งในอาคารของรัฐทั่วประเทศให้ได้ 25 เมกะวัตต์ ภายในปี 2557 และจะมีการผลักดันให้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาพรวมให้ได้ 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กลุ่มบ้านเรือนที่อยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ และกลุ่มอาคารธุรกิจ 100 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ให้ได้ภายในปี 2556 นี้

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ตั้งเป้าในปี 2564 ที่ 4,800 เมกะวัตต์ ปี 2556 ที่ 2,065 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2,200 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ ที่ตั้งเป้าสูงถึง 3,000 เมกะวัตต์ และเพื่อให้การดำเนินการไปถึงเป้าหมาย จึงได้มีการดำเนินโครงการนำร่องในพื้นที่ 3 ลักษณะ คือ พื้นที่น้ำแล้ง พื้นที่ชุ่มน้ำ และพื้นที่ปลูกข้าว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในวงเงิน 300 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรอยู่ระหว่างการจัดโซนนิ่งหญ้าเนเปียร์  

นอกจากนี้ยังได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง เพื่อให้การใช้พลังงานทดแทนเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อกฏหมายฉบับนี้แล้วเสร็จเมื่อไร การส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทนก็จะเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: