การเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าชีวมวล

ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวล ได้แก่ โรงไฟฟ้าแกลบ และ โรงไฟฟ้าชานอ้อย ภายใต้โรงงานน้ำตาล มีจำนวนและกำลังการผลิตมากที่สุดในบรรดาชีวมวลอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณชีวมวลคงเหลือในปัจจุบันค่อนข้างน้อย และเป็นการยากที่จะจัดตั้งโรงไฟฟ้าแกลบ หรือ ชานอ้อยแห่งใหม่ขึ้นมาอีก เนื่องจากวัตถุดิบค่อนข้างจำกัด ดังนั้น หากมีการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าชานอ้อย ให้สามารถมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยยังคงใช้วัตถุดิบปริมาณเดิม จะช่วยส่งเสริมให้การผลิตและใช้พลังงานชีวมวลเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนพลังงานทดแทนได้

โรงงานน้ำตาล ถือว่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพเป็นแหล่งพลังงานทดแทนสูงสุด สามารถแปลงของเสียทุกอย่างให้เป็นพลังงานได้ เช่น กากอ้อย/ชานอ้อย นำมาเผาต้มน้ำใน boiler เพื่อนำไอน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้า, น้ำเสียนำไปผลิตก๊าซชีวภาพ, กากน้ำตาล (โมลาส) นำไปหมักผลิตเอทานอล เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์

แนวทางการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี ได้มีการกำหนดแผนการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล โดยการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลไว้ ทั้งนี้ เบื้องต้น จะมีการดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าในโรงงานน้ำตาล ก่อนขยายผลไปยังโรงไฟฟ้าชีวมวลประเภทอื่น ๆ เช่น แกลบ ปาล์ม ต่อไป

บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (The Joint Graduated School of Energy and Environment : JGSEE) ได้ทำการศึกษาให้กับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในโรงงานน้ำตาล 2-3 โรง เพื่อปรับเปลี่ยนเป็น High Pressure Boiler พบว่า ถ้าไทยลงทุนทุกโรงเป็น High Pressure Boiler หากใช้ชีวมวลปริมาณเท่าเดิมจะผลิตไฟฟ้าได้ 2,000 เมกะวัตต์

แต่อาจจะมีปัญหาที่ไม่สามารถส่งขายเข้าระบบส่งไฟฟ้า (grid) ได้ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำตาลมีปริมาณสูงมากจนเกินความสามารถของสายส่งที่เชื่อมต่อลงมาสู่ภาคกลาง ดังนั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องหารือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อเร่งรัดการแก้ปัญหาสายส่ง (grid connection) และจัดการโครงการที่ยื่นจองเพื่อผลิตไฟฟ้า แต่ยังไม่ได้ดำเนินการจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น ไม่สามารถขายไฟฟ้าได้ เนื่องจากการไฟฟ้าจะไม่รับซื้อเพิ่มเติม เพราะจะต้องพิจารณาความสามารถ (capacity) ของสายส่ง สำหรับกำลังการผลิตที่ขายในปัจจุบัน และส่วนที่มีการจองไว้รวมกันทั้งหมดก่อน

อย่างไรก็ตาม มีการจัดหลักสูตร Training for operation and maintenance โดยมีการอบรมทักษะการปฏิบัติงาน การดูแลรักษา boiler ซึ่งจัดหลักสูตรอบรมประมาณ 3-4 ปี ซึ่งกลุ่มน้ำตาลเคยมีข้อเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ ณ ปัจจุบัน หากรวมการจองไว้จะเกินปริมาณสายส่งที่จะรับได้ (การขายไฟฟ้าเข้าระบบรูปแบบ over booked) ก็ยินดีที่จะถูกตัดไฟออกจากระบบเมื่อมีปริมาณไฟฟ้าเกิน โดยใช้วิธีหมุนเวียนโรงงานผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ ก่อนที่จะเร่งรัดให้มีการขยายสายส่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็น 500 กิโลโวล์ต (kv) ให้ได้ก่อนแผนที่กำหนดไว้ในปี 2559-2560 ต่อไป

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: