พพ. เร่งส่งเสริมพลังงานขยะในประเทศไทย

กระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากขยะให้ได้ 160 เมกะวัตต์และผลิตความร้อน 100 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2564 

ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) มีเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากขยะ ในปี 2564 การส่งเสริมพลังงานจากขยะ  เท่ากับ 160 เมกะวัตต์ และผลิตความร้อน 100  พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากขยะมีกำลังการผลิตติดตั้ง 44.324 เมกะวัตต์ โดยเป็นการนำก๊าซจากหลุมฝังกลบขยะมาผลิตไฟฟ้า 22.23 เมกะวัตต์  เตาเผาและแก๊สซิฟิเคชั่น 20.06 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพจากการหมักขยะ 2.034 เมกะวัตต์ ส่วนการผลิตความร้อนจากขยะมีกำลังการผลิต 78.59 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ เป็นความร้อนจากการใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม 1.28 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และความร้อนจากการใช้เชื้อเพลิงขยะ (Refuse-Derived Fuel, RDF) 77.31 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ โดยมีการนำขยะไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซิเมนต์เพื่อทดแทนถ่านหินด้วย

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานจากขยะเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงได้รณรงค์ ประชาสัมพันธ์ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการนำขยะมาผลิตพลังงาน ส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะ และให้ความรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน และนักเรียนนักศึกษาให้มีความเข้าใจในการจัดการขยะเพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงาน และได้มีการออกมาตรการสนับสนุนการนำขยะมาผลิตพลังงาน ประกอบด้วย การสนับสนุนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) สำหรับไฟฟ้าที่ผลิตจากขยะด้วยกระบวนการทางความร้อน (Thermal process) เช่น กระบวนการเผาและแก๊สซิฟิเคชั่นจะได้  Adder 3.50 บาท/kWh ส่วนไฟฟ้าจากก๊าซจากหลุมฝังกลบและระบบหมักก๊าซชีวภาพจะได้ Adder 2.50 บาท/kWh  นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (ESCO Fund)โดยให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการแต่ยังขาดปัจจัยการลงทุน  รวมถึงยังได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนดสิทธิประโยชน์ที่ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 8 ปี และหลังจากนั้นอีก 5 ปี หรือตั้งแต่ปีที่ 9 - 13 จะลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ร้อยละ 50 สำหรับโครงการพลังงานทดแทน

และเพื่อเป็นการจูงใจให้มีการนำขยะมาผลิตพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม  ได้มีการของบประมาณสนับสนุนการดำเนินการในปี 2557 ดังนี้ 1.โครงการศึกษาปรับปรุงข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะงบประมาณ 4,540,000 บาท 2.ความจำเป็นที่ต้องมีการศึกษาปรับปรุงข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะ เนื่องจากยังไม่มีแหล่งข้อมูลด้านศักยภาพของพลังงานขยะที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการพิจารณาการลงทุน

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และวิเคราะห์พื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนจากขยะ  โดยจัดลำดับความสำคัญแหล่งขยะชุมชน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีปริมาณขยะน้อยกว่า 50 ตันต่อวัน และกลุ่มที่มีขยะมากกว่า 50 ตันต่อวัน ที่มีความเป็นไปได้ในการผลิตพลังงานจากขยะ เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนจากขยะของประเทศไทยในปัจจุบัน นำมาพัฒนาปรับปรุงฐานข้อมูลศักยภาพพลังงานขยะให้มีความทันสมัย สะดวกต่อการใช้งาน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ประกอบการในการดำเนินโครงการผลิตพลังงานจากขยะต่อไป ส่วนการผลิตพลังงานขยะจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ