ขยะ: สำคัญที่การจัดการเพื่อให้ได้ทั้งการกำจัดและพลังงาน
1. ลำดับขั้นของการจัดการขยะชุมชนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
ด้วยนโยบายส่งเสริมการการแปรรูปขยะเป็นพลังงานของรัฐบาล ทำให้มีผู้สนใจโครงการก่อสร้างเตาเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นจำนวนมากทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิเช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น โดยหลักการแล้ววัตถุประสงค์หลักของการจัดการขยะมูลฝอย ไม่ใช้นำขยะไปผลิตพลังงานแต่เป็นการกำจัดขยะให้หมดไป หรือเหลือไปฝังกลบให้น้อยที่สุด โดยไม่ให้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในการจัดการขยะควรพิจารณาแบบบูรณการหมายถึงการจัดการมูลฝอยที่เลือกเทคโนโลยีที่สามารถกำจัดขยะได้อย่างเหมาะสมตามคุณลักษณะและปริมาณของขยะมูลฝอยและเป็นที่ยอมรับของประชาชน รวมทั้งยังคงหลักการเกี่ยวกับการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาเป็นแนวทางพิจารณาที่สำคัญ โดยไม่ได้มุ่งแต่ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจหรือด้านเทคนิค ด้านใด ด้านหนึ่ง การจัดการจะเริ่มตั้งแต่การทิ้งขยะมูลฝอย การเก็บขนไปจนถึงการทำลายหรือกำจัดมูลฝอยเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพิจารณาการนำวัสดุในขยะมาใช้ใหม่เป็นแนวทางการจัดการสำคัญ
ในสหภาพยุโรป นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการของเสีย คือ การเป็นสังคมที่เน้นฐานการรีไซเคิลเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้วัตถุดิบ การรีไซเคิลวัสดุให้ได้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีของเสียเหลือทิ้งอีกต่อไป จากนโยบายดังกล่าว หลายประเทศในยุโรปได้ออกกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะมูลฝอย โดยยึดหลักการของผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย และขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ที่ทิ้งจะต้องได้รับบริการจากหน่วยงานที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และจะต้องจ่ายค่ากำจัดในอัตราที่เหมาะสม และกำหนดให้ขยะมูลฝอยจะต้องผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการรีไซเคิลหรือการคืนรูปก่อนนำไปฝังกลบ ในประเทศเยอรมันกำหนดให้แต่ละครัวเรือนจะต้องแยกขยะออกเป็น แก้ว กระดาษ เสื้อผ้าเก่า ขยะอินทรีย์ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ ขยะอิเล็กโทรนิคและเครื่องใช้ไฟฟ้า แบตเตอรี โลหะ ขยะที่มีขนาดใหญ่และของเสียอันตราย และแยกเก็บขนเพื่อนำไปรีไซเคิลโดยผู้ผลิตสินค้า หรือบริษัทเอกชน ขยะที่คัดแยกต้นทางและแยกเก็บขนมาเข้าสู่โรงคัดแยกเพิ่มเติมเพื่อให้มีความบริสุทธิ์สูงขึ้นสำหรับการนำไปจำหน่าย ส่วนขยะอินทรีย์จะถูกใช้สำหรับเป็นปุ๋ยหรือสารปรับปรุงดิน ด้วยกระบวนการหมักทำปุ๋ยและการหมักเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ
ในประเทศเยอรมันมีข้อกำหนดที่เข้มงวดในการกำจัดขยะว่า ขยะมูลฝอยจากชุมชนและอุตสาหกรรมจะต้องผ่านการบำบัดในแนวทางที่สามารถป้องกันกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำไปฝังกลบ ด้วยข้อกำหนดนี้ขยะจะต้องถูกบำบัดขั้นต้น ขยะส่วนใหญ่ที่เผาไหม้ได้จะถูกกำจัดด้วยกระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน และส่วนขยะอินทรีย์ที่เหลือจะถูกบำบัดด้วยกระบวนการเครื่องจักรกลร่วมกับกระบวนการชีวภาพ (MBT) ดังนั้นเมื่อนำสิ่งที่เหลือจากการบำบัดขั้นต้นดังกล่าวไปฝักลบ จะไม่เกิดก๊าซชีวภาพที่หลุมฝังกลบ ซึ่งจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก ด้วยนโยบายดังที่กล่าวมาแล้วและการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการวิจัยของรัฐบาล ทำให้เกิดเทคโนโลยีการกำจัดขยะแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก
ดังนั้นการจัดขยะมูลฝอยชุมชนควรพิจารณาดำเนินการตามลำดับขั้นของการจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลำดับแรกเริ่มจากการหาทางลดปริมาณขยะและการใช้ซ้ำเพื่อไม่ให้เกิดขยะ จากนั้นพิจารณานำวัสดุในขยะที่ทิ้งจากชุมชนมารีไซเคิล หรือหมักทำปุ๋ย ในส่วนของขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลควรนำไปเข้ากระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน ขยะที่ไม่สามารถบำบัดด้วยวิธีการดังกล่าวได้และขยะที่เหลือจากกระบวนการต่างๆนำไปฝังกลบ กระบวนการเหล่านี้นอกจากจะเป็นวิธีการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แล้วยังช่วยลดการใช้พลังงาน ลดพื้นที่ฝังกลบและลดปริมาณมลพิษด้วย ลำดับขั้นของการจัดการขยะชุมชนมีดังต่อไปนี้
ขอขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต
1) การลดปริมาณมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดและการใช้ซ้ำ (Source reduction & Reuse) เป็นขั้นตอนที่จะทำให้ไม่เกิดขยะมูลฝอย เช่น กำหนดให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำผลิตภัณฑ์หรือบางส่วนของผลิตภัณฑ์กลับไปใช้ใหม่หรือเข้าไปรีไซเคิลในโรงงานได้ ควบคุมการใช้บรรจุภัณฑ์โดยให้ผู้จำหน่ายสินค้ารับคืนบรรจุภัณฑ์แล้วส่งกลับไปยังโรงงานผู้ผลิตเพื่อนำไปใช้ใหม่ การออกแบบสินค้าที่ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น
2) การรีไซเคิล/การหมักทำปุ๋ย (Recycling/Composting) การรีไซเคิลวัสดุบางประเภทเพื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าใหม่ การรีไซเคิลยังรวมถึงการนำขยะอินทรีย์และขยะจากสวนมาหมักทำปุ๋ย
3) การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน (Waste-To-Energy) เป็นการนำขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงาน ความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงโดยผ่านกระบวนการต่างๆ ได้แก่ การเผาในเตา (combustion) แก๊สซิฟิเคชัน (gasification) ไพโรไลซิส (pyrolysis) การหมักก๊าซชีวภาพ (anaerobic digestion) และการดึงก๊าซจากการฝังกลบขยะ (landfill gas)
4) การฝังกลบมูลฝอย (Landfill) เป็นลำดับขั้นสุดท้ายของการจัดการขยะ
ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นแบบของการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิดที่สมบูรณ์แบบ โดยกำหนดให้ประชาชนคัดแยกขยะในครัวเรือนออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ (1) ขยะที่เผาได้ เช่น ขยะอินทรีย์ (ต้องเทน้ำทิ้งก่อน) เสื้อผ้าเก่า กระดาษชำระ ผ้าอ้อม ขยะจากสวน เป็นต้น จัดเก็บ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ (2) ขยะรีไซเคิล เช่น กระดาษ พลาสติก แก้ว โลหะ เป็นต้น ให้จัดวางในภาชนะแยกประเภท จัดเก็บสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (3) ขยะเผาไหม้ไม่ได้ เช่น หนัง ยาง แก้วแตก พลาสติกพีวีซี โฟม เซรามิก เป็นต้น รวมทั้งขยะอันตรายที่ต้องแยกถุง จัดเก็บสัปดาห์ละครั้ง (4) ขวด PET จัดเก็บสัปดาห์ละครั้ง และ (5) ขยะที่มีขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
การนำขยะไปฝังกลบควรเป็นวิธีสุดท้ายสำหรับขยะที่ไม่สามารถกำจัดด้วยวิธีใดๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นได้ ดังนั้นในการจัดการขยะมูลฝอยควรเริ่มจากการรณรงค์ให้ความรู้และออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิดเป็นขั้นแรก จากนั้นหาวิธีการรีไซเคิลวัสดุในขยะเท่าที่เป็นไปได้ให้ได้มากที่สุด ได้แก่การแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง และแยกประเภทเก็บขน นำขยะผ่านการคัดแยกต้นทางเข้าสู่กระบวนการคัดแยกอีกครั้งเพื่อทำให้ได้วัสดุที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้นตามความต้องการของตลาด จากนั้นส่วนที่เหลือจึงพิจารณานำไปผลิตเป็นพลังงาน แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ที่มีในแต่ละท้องถิ่น ปริมาณขยะมูลฝอย และความเหมาะสมทั้งทางด้านพื้นที่ นโยบาย เศรษฐศาสตร์ เทคนิคและสิ่งแวดล้อม อาจทำให้วิธีการต่างๆ นั้นไม่สามารถดำเนินการได้
2. แนวคิดในการจัดการขยะของประเทศไทย
ในปัจจุบันยังพบว่าเริ่มมีเทศบาลบางแห่งในประเทศไทยมีการคัดแยก ณ แหล่งกำเนิดและแยกประเภทเก็บขน โดยการจัดถังแยกประเภทเพื่อให้ประชาชนแยกประเภทขยะทิ้ง โดยแยกออกเป็นขยะรีไซเคิล ขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ และขยะอันตรายก็ตาม แต่การจัดเก็บยังไม่ครอบคลุมทั้งพื้นที่ ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน และส่วนจัดเก็บสัปดาห์ละครั้ง ทำให้ขยะเน่าเสียและมีกลิ่นรุนแรง จึงทำให้กระบวนการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางไม่เกิดขึ้น
มีการรีไซเคิลวัสดุที่มีราคาตั้งแต่ต้นทางโดยเจ้าของบ้าน และกลางทางโดยกลุ่มคนอาชีพซาเล้งเก็บขยะและพนักงานเก็บขนขยะ ทำให้ส่วนหนึ่งของวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ถูกเก็บออกไป ขยะที่เหลือในขั้นสุดท้ายในรถเก็บขนขยะจึงประกอบด้วยขยะอินทรีย์มากกว่าร้อยละ 50 โดยน้ำหนัก
แต่เดิมการกำจัดขยะในประเทศไทยใช้วิธีการเทกองแล้วกลบหรือเผา ซึ่งเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง ต่อมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณสำหรับเทศบาลหลายแห่งในการกำจัดขยะมูลฝอยตามเกณฑ์มาตรฐานและตามแนวทางการจัดการมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างหลุมฝังกลบมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล เมื่อเทศบาลใดมีสถานที่กำจัดขยะแล้ว เทศบาลข้างเคียงที่ไม่มีที่กำจัดจะนำขยะมาร่วมฝังกลบด้วยทำให้ปริมาณขยะที่เข้าฝังกลบสูงกว่าที่ออกแบบไว้ จึงทำให้หลุมฝังกลบเต็มเร็วกว่าที่กำหนด อีกทั้งการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างนั้นให้แต่เพียงหลุมฝังกลบชั้นแรก เมื่อต้องก่อสร้างคันดินเพื่อทำการฝังกลบในชั้นถัดขึ้นไป (หรือต้องฝังกลบในเฟสที่สอง) เทศบาลจะต้องหางบประมาณก่อสร้างเอง และด้วยการจัดเก็บค่ากำจัดขยะสูงสุดเพียง 40 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน จึงทำให้เทศบาลส่วนใหญ่ไม่มีงบประมาณเพียงพอ และรัฐบาลไม่มีนโยบายให้งบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องสำหรับโครงการที่ได้จัดสรรไปแล้ว นอกจากนี้ในการดำเนินงานฝังกลบมูลฝอยอย่างถูกหลักสุขาภิบาล ผู้ปฏิบัติงานจะต้องบดอัดขยะโดยใช้รถแทรกเตอร์หรือรถบดอัดขยะวิ่งทับขยะที่นำมาฝังกลบไปมาหลายๆ เที่ยวทำให้ปริมาตรขยะลดลง (เพิ่มความหนาแน่น) เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานของหลุมฝังกลบ แต่ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดเทศบาลหลายแห่งจึงไม่ดำเนินงานฝังกลบอย่างถูกต้อง ทำให้หลุมฝังกลบเต็มอย่างรวดเร็ว
ต่อมาด้วยนโยบาย 3 R ของรัฐบาลทำให้มีการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะอย่างครบวงจร ได้แก่โรงคัดแยกขยะและหลุมฝังกลบอย่างถูกหลักสุขาภิบาล โดยให้โรงคัดแยกขยะทำการคัดแยกองค์ประกอบที่สามารถนำไปจำหน่ายได้ เพื่อลดปริมาณขยะที่จะนำไปฝังกลบ และคาดว่าจะทำให้หลุมฝังกลบมีอายุการใช้งานนานขึ้น โดยไม่มีการคัดแยกขยะต้นทางและไม่มีการแยกเก็บขน ด้วยพฤติกรรมการทิ้งขยะรวมและการทิ้งขยะอินทรีย์โดยไม่มีการแยกของเหลวออก แต่กลับใช้ถุงพลาสติกห่อทั้งของเหลวและของแข็งไว้หลายชั้น จึงทำให้ขยะรวมที่เก็บขนมีความชื้นสูงมากกว่าร้อยละ 50 จากคุณลักษณะของขยะชุมชนดังกล่าวจึงทำให้ประสิทธิภาพในการคัดแยกขยะที่โรงคัดแยกทำได้ยาก เครื่องฉีกถุงไม่สามารถทำงานได้ตามที่ออกแบบ โรงคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพต่ำ นอกจากวัสดุที่คัดแยกได้จะมีจำนวนน้อยแล้ว ยังมีการปนเปื้อนสูง จำหน่ายได้ราคาต่ำ ทำให้ไม่ได้รายรับตามเป้าที่กำหนดไว้ในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ นอกจากนี้กระบวนการคัดแยกบางประเภท เช่น การคัดแยกประเภทวัสดุด้วยลมไม่สามารถคัดแยกพลาสติกที่เปียกชื้นได้ ขยะที่เข้าโรงคัดแยกมีกลิ่นเหม็นรุนแรง (เนื่องจากการจัดเก็บขยะสัปดาห์ละครั้งเป็นส่วนใหญ่) เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน การคัดแยกด้วยคนมีประสิทธิภาพต่ำ เครื่องจักรและอุปกรณ์ชำรุดเสียหายจากน้ำขยะที่เป็นกรด เป็นต้น ทำให้โรงคัดแยกของเทศบาลหลายแห่งต้องปิดตัวลง เพราะขาดแคลนงบประมาณในการซ่อมบำรุง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก กระบวนการคัดแยกขยะที่ใช้ในโรงคัดแยกเหล่านี้ส่วนใหญ่เหมาะสำหรับองค์ประกอบขยะที่ผ่านการคัดแยกประเภทขยะทิ้งบางส่วนที่ต้นทางและแยกเก็บขน ซึ่งเป็นการดำเนินการในต่างประเทศ และในขยะจะประกอบด้วยวัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จำนวนมากและมีขยะอินทรีย์ปนเปื้อนจำนวนน้อย
ในยุคที่ราคาน้ำมันโลกถีบตัวสูงขึ้น ทำให้เชื้อเพลิงทุกชนิดมีราคาแพง และด้วยนโยบายส่งเสริมการแปรรูปขยะเป็นพลังงานของรัฐบาล ทำให้เกิดโครงการกำจัดขยะที่เกี่ยวข้องกับการนำขยะมาเป็นพลังงาน จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลโครงการจัดการขยะที่ยังดำเนินงานอยู่และสามารถนำขยะไปผลิตเป็นพลังงานได้จริงในปัจจุบัน สามารถแบ่งเทคโนโลยีที่ใช้ออกเป็น 4 ประเภทคือ (1) การใช้เตาเผา (2) การผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ ส่วนที่เหลือนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) (3) กระบวนการบำบัดเชิงกล-ชีวภาพและผลิตเชื้อเพลิง RDF และ (4) การฝังกลบขยะและการวางท่อดึงก๊าซมาผลิตกระแสไฟฟ้า ( ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความสถานภาพการผลิตพลังงานจากขยะ http://webkc.dede.go.th/)
แต่ละเทคโนโลยีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน มีงบลงทุนและค่าดำเนินงานที่แตกต่างกัน และมีความเหมาะสมกับปริมาณขยะและขนาดพื้นที่ที่มีอยู่ที่แตกต่างกัน แนวทางในการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแต่พื้นที่จึงต้องพิจารณา (1) ปริมาณขยะที่เก็บขนและรวบรวมได้ต่อวัน (2) สภาพของพื้นที่และขนาดพื้นที่ที่มีอยู่สำหรับการกำจัดขยะ และ (3) ความสามารถในการบริหารจัดการและงบประมาณของท้องถิ่น รวมถึงการสนับสนุนของภาครัฐ
โครงการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพดำเนินงานอยู่ที่เทศบาลนครนครราชสีมา ออกไว้สำหรับขยะอินทรีย์ที่แยกเก็บขน 40 ตันต่อวันและคัดแยกขยะอินทรีย์ให้ได้ 40 ตันจากขยะชุมชน 180 ตันต่อวัน ด้วยตะแกรงหมุน ขยะที่ผ่านช่องตะแกรงถูกนำไปคัดแยกขยะอินทรีย์ด้วยน้ำ วัสดุหนัก เช่น กรวดทรายจะตกลงด้านล่าง ส่วนวัสดุเบา เช่น พลาสติกจะลอยอยู่ด้านบน น้ำที่ผสมขยะอินทรีย์จะถูกนำเข้าเครื่องย่อยละเอียดแล้วนำเข้าถังหมักก๊าซชีวภาพแบบ anaerobic digestion และส่วนขยะที่ไม่ผ่านช่องตะแกรงถูกนำไปผลิตเชื้อเพลิงขยะ RDF พบว่า RDF ที่ได้มีค่าความร้อนประมาณ 1,500 กิโลแคลอรีต่อกิโลกรัม กากตะกอนจากการหมักก๊าซชีวภาพนำเข้าสู่กระบวนการต่อเนื่องคือไปหมักทำปุ๋ย แม้ว่าจะเป็นวิธีที่สอดคล้องกับการจัดการขยะเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดวิธีหนึ่ง แต่เนื่องจากพฤติกรรมการทิ้งขยะรวมของคนไทยและการไม่แยกประเภทขยะเก็บขนของเทศบาล จึงทำให้ขั้นตอนการคัดแยกมีความยุ่งยาก ต้องใช้พนักงานเป็นจำนวนมากและมีประสิทธิภาพต่ำ โรงคัดแยกประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีขยะปริมาณไม่มาก เพื่อให้สามารถจัดการโรงคัดแยกได้อย่างเหมาะสม ในความเป็นจริงแล้วโครงการในลักษณะนี้จะเหมาะสมกับเทศบาลที่สามารถรณรงค์ให้ประชาชนแยกประเภทขยะอินทรีย์ตั้งแต่ต้นทางและแยกเก็บขนมาสู่โรงงาน
โครงการกำจัดขยะเทศบาลนครนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา
Attachment | Size |
---|---|
![]() | 724.56 KB |