ผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานในปี 2556

ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้มีการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้

1.ด้านความมั่นคงทางพลังงาน

การปรับเพิ่มอัตราสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายของภาคเอกชนจาก 5% เป็น 6% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันสำรอง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 43 วัน จากเดิมอยู่ที่ 36 วัน

การเพิ่มความมั่นคงด้านไฟฟ้าในภาคใต้ กระทรวงพลังงานได้เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอ เพื่อให้ระบบไฟฟ้าในภาคใต้สามารถพึ่งพาตนเองได้ นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งดำเนินการจัดทำโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า 500 เควี และ 230 เควี เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ และได้ทบทวนภาพรวมการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้า โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ หากพบว่าจุดใดที่มีความเสี่ยง ก็ให้เพิ่มระดับความมั่นคงในบริเวณนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างขึ้นอีกในอนาคต นอกจากนี้ กพช.ยังได้เห็นชอบแนวทางในระยะสั้น ให้ กฟผ.ใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้ากระบี่ในสัดส่วน 10% ของปริมาณการใช้น้ำมันเตา เพื่อลดปัญหาด้านการขนส่งน้ำมันเตา

การพัฒนาท่อขนส่งน้ำมัน โดยกระทรวงพลังงานได้เริ่มโครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาเส้นทางท่อขนส่งน้ำมัน เพื่อให้การขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันและโรงกลั่นไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถใช้น้ำมันในราคาที่ใกล้เคียงกันทั่วประเทศ

2.ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน)

ได้มีการยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน 91 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ส่งผลให้มีการใช้เอทานอล เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านลิตรต่อวัน

โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) โดยให้มีการส่งเสริมการติดตั้งที่บ้านอยู่อาศัย 100 เมกะวัตต์ อาคารธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่และโรงงาน 100 เมกะวัตต์

โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชุมชน โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตติดตั้ง 800 เมกะวัตต์ โดยให้มีวันจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2557

โครงการวิสาหกิจชุมชนจากพืชพลังงาน (หญ้าเนเปียร์) โดยเห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff ซึ่งขณะนี้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ศึกษาวิจัยต้นแบบวิสาหกิจชุมชนพลังงานสีเขียวจากพืชพลังงาน (ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน) โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรทำการปลูกพืชพลังงาน

กระทรวงพลังงานยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี โดยมีเป้าหมาย คือ ภาคอุตสาหกรรม มีเป้าหมายลดการใช้พลังงาน 16 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภาคอาคารธุรกิจและบ้านพักอาศัย มีเป้าหมายลดการใช้พลังงาน 7 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ภาคขนส่ง มีเป้าหมายลดการใช้พลังงาน 15 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ

3.ด้านราคาพลังงานและการกำกับกิจการพลังงาน

การปรับโครงสร้างราคาพลังงานของก๊าซหุงต้ม (LPG) ให้สะท้อนต้นทุน ซึ่งได้มีมาตรการบรรเทาผู้มีรายได้น้อยที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับราคามาใช้ควบคู่ไปด้วย โดยได้ทยอยปรับขึ้นราคา LPG ภาคครัวเรือนเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2556 จนไปสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 24.82 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับผู้ใช้น้ำมัน เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แก้ไขปัญหาการใช้ผิดประเภท แก้ไขปัญหาการลักลอบจำหน่ายไปประเทศเพื่อนบ้าน ลดปัญหาการบิดเบือนราคา และเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

การบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการบริหารจัดการ  ซึ่งในส่วนของน้ำมันดีเซล ได้มีการรักษาระดับราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าขนส่งและค่าโดยสาร ส่วนน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ รักษาระดับส่วนต่างราคา เพื่อจูงใจให้มีการใช้เอทานอลเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการป้องกันและจับกุมการลักลอบจำหน่ายก๊าซ LPG ข้ามสาขา ส่งผลให้การใช้ก๊าซLPG ภาคครัวเรือนลดลง และมาตราการการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติจากแนวท่อสำหรับภาคขนส่ง (Ex-Pipeline) เพื่อขยายการให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เป็นต้น

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: