โครงการศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ในการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย


ผู้ดำเนินการ      กองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ที่ปรึกษา         บริษัท เพเนอร์จี จำกัด
ระยะเวลาดำเนินงาน      ปี 2561
สถานภาพ        ดำเนินการแล้วเสร็จ

บทสรุปผู้บริหาร
            ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศ ซึ่งกำหนดเป้หมายให้เพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP2015) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ตามแผนดังกล่าว 6,000 MWp  ภายในปี 2579 ซึ่งควรคำนึงถึง “ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม” ที่อาจจะเกิดขึ้นจากกากขยะที่เกิดจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่หมดอายุการใช้งานหรือเสื่อมสภาพร่วมด้วย
            
ในปีงบประมาณ 2559 พพ. ได้ทำการศึกษาแนวทางการดำเนินการในการบริหารจัดการและกำจัดกากขยะที่เกิดจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้เหมาะสม และไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจากผลการศึกษาของโครงการศึกษาแนวทางการดำเนินการในการบริหารจัดการและกำจัดกากขยะที่เกิดจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้น พบว่าประเทศไทยยังไม่มีศูนย์รวบรวมกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์และโรงกำจัดขยะเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสม รวมถึงบทบาทความรับผิดขอบของแต่ละหน่วยงานยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ดังนั้นในโครงการนี้ พพ. จึงได้ต่อยอดการดำเนินการในประเด็นการศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ในการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทยโดยมีวัตถุประสงค์ คือ
               
1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์หาศักยภาพเชิงพื้นที่ในการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้งศูนย์รวบรวมและศูนย์รีไซเคิลกากขยะเซลลแสงอาทิตย์ที่เหมาะสมในอนาคต
               
2) เพื่อจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติการรื้อถอนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย
            
โครงการได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อบูรณาการการทำงาน ติดตามและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับชนิดและปริมาณแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกติดตั้ง และหน่วยงานรับกำจัดกากอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อนำมาประเมินศักยภาพเชิงพื้นที่ในการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทยและใช้เป็นแนวทางในการส่งเริมการจัดตั้งศูนย์รวบรวมกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์และศูนย์รีไซเคิลกากขยะเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมในอนาคต รวมถึงได้มีการจัดทำฐานข้อมูลและโปรแกรมแผนที่แสดงผลที่ตั้งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ตั้งของผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิคส์ และศักยภาพเชิงพื้นที่ในการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติการรื้อถอนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยด้วย
            
จากผลการดำเนินโครงการพบว่า ในต่างประเทศมีการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางได้ เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ส่วนใประเทศไทยเองนั้นมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับโรงงานในการจัดการของเสียจากโรงงานแล้ว และในกลุ่มของบ้านและอาคาร มีประมวลกฎหมายหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: COP) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แต่ยังไม่มีการควบคุมและติดตามเรื่องของการจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ในกลุ่มของบ้านและอาคารที่ไม่ได้จดแจ้งหรือไม่ได้รับใบอนุญาต
            
ในด้านเทคโนโลยีพบว่า มีเทคโนโลยีการรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในเชิงพาณิชย์แล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยกระบวนการทางกายภาพ กระบวนการทางกล กระบวนการทางความร้อน กระบวนการทางเคมี และกระบวนการกำจัดทิ้ง
            
ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบรีไซเคิลในประเทศถูกกว่าการส่งออกไปจัดการแบบรีไซเคิลในต่างประเทศ เนื่องจากการส่งออกต้องมีค่าขนส่งทางเรือ ค่าภาษีศุลกากรนำเข้าขยะและค่าจัดรีไซเคิลขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทำให้มีแนวโน้มว่าขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ส่วนใหญ่จะถูกรีไซเคิลอยู่ในประเทศหากมีกฎหมายบังคับให้ต้องนำขยะแผงเซล์แสงอาทิตย์ไปรีไซเคิล
            
จากการศึกษาความคุ้มค่าทางการลงทุนในการจัดตั้งศูนย์รีไซเคิลขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ พบว่าปริมาณกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2578 อาจมีไม่เพียงพอแก่ความต้องการของศูนย์รีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 2-5 ตัน/วัน ความสมบูรณ์ของขยะแผงฯ ไม่ได้มีสภาพ 100% ทำให้ไม่สามารถประเมินรายได้ล่วงหน้าในระยะยาวได้ และกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์อาจไม่ได้มีทุกวันในปริมาณคงที่ ทำให้ไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะเข้าศูนย์รีไซเคิลฯได้ จึงสรุปได้ว่า ในกรณียังไม่เกิด End of Life (2562-2577) โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภท 106 ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันมีแนวโน้มจะเป็นโรงรีไซเคิลที่มีศักยภาพที่สามารถจะขยายหรือตั้งเป็นศูนย์หรือโรงรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับการดำเนินการรีไซเคิลวัสดุอุปกรณ์อื่นที่ดำเนินการอยู่ได้ เนื่องจากมีการประกอบกิจการที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอยู่เพื่อความคุ้มค่าในการลงทุน แต่ไม่ได้หมายความว่าโรงงานรีไซเคิลที่จะตั้งขึ้นใหม่ไม่ได้มีศักยภาพในการเป็นโรงรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความสามารถในการจัดหาปริมาณขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขาเข้า ต้นทุนในการจัดตั้ง และการบริหารจัดการด้านรายได้และค่าใช้จ่ายของแต่ละโรงงาน เป็นต้น
            
ในการวิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงานในด้านการจัดการขนส่ง พบว่า แนวทางการบริหารจัดการและการกำจัดซากของเซลล์แสงอาทิตย์ควรเน้นไปทางการนำกลับมาใช้หรือการรีไซเคิลมากกว่าการนำไปฝังกลบ และในการขนส่งขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ภายในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ไม่ทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นนัยสำคัญเมื่อเทียบกับวัฏจักรการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ โดยการขนส่งขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีผลกระทบด้านภาวะโลกร้อนเท่ากับ 1.34E-04 กิโลกรัม CO2 eq/kWh ในขณะที่การผลิตเซลล์แสงอาทิตย์มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเท่ากับ 0.04 กิโลกรัม CO2 eq/kWh และเมื่อวิเคราะห์ความอ่อนไหวของข้อมูลระยะทางของการขนส่งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ พบว่า เมื่อพิจารณาการขนส่งที่ระยะทางลดลง 100 กิโลเมตร และเพิ่มขึ้นถึง 1,000 กิโลเมตร จาก 300 กิโลเมตร ผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเปลี่ยนแปลงเพียงร้อยละ - 0.18 ถึงร้อยละ + 0.62 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดตลอดวัฏจักรชีวิตของพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งการใช้พลังงานในการขนส่งนั้น จะขึ้นอยู่กับปริมาณของขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ และการบริหารจัดการการขนส่งของโรงผลิตไฟฟ้าแต่ละแห่ง เช่น การเลือกใช้ประเภทรถในการขนส่ง การบริหารเส้นทางการขนส่ง หรือการใช้วิธีการขนส่งร่วมกับโรงผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้มีการขนส่งน้อยรอบที่สุดเพื่อลดระยะทางรวมในการขนส่ง จึงจะสามารถลดการใช้พลังงาน และค่าใช้จ่ายในด้านขนส่งได้
            
นอกจากนี้ในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อชุมชนและการยอมรับจากชุมชน ยังพบว่า ในการเพิ่มกระบวนการหรือปรับเปลี่ยนโรงรีไซเคิลฯ เดิมให้สามารถรับจัดการขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ หรือการตั้งศูนย์รีไซเคิลขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์นั้น ชุมชนมีความคิดเห็นว่า ควรมีมาตรการในการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมาตรการป้องการหรือลดผลกระทบในเรื่องของเสียง ความสั่นสะเทือน ฝุ่นละออง กลิ่น ควัน น้ำเสีย ไอสารเคมี กากของเสีย และมาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อที่จะทำให้ชุมชนเกิดการยอมรับมากขึ้น ทั้งนี้ควรมีการทำความเข้าใจกับชุมชนและผู้นำชุมชน พร้อมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงกระบวนการของโรงงาน และมาตรการป้องกันก่อนการดำเนินการ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้แล้ว พบว่าชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางจะมีแนวโน้มการร้องเรียนน้อยกว่าชุมชนในภาคใต้มาก ทั้งนี้เนื่องจากภาคใต้มีจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าในด้านของฝุ่น กลิ่น ควัน และน้ำเสีย
            
โดยจากผลการศึกษาและการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดในโครงการนี้ ทำให้สามารถนำมาสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโนบายได้ว่า
            
1) ควรมีการให้ลงทะเบียนบ้านและอาคารที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนหลังคาทั้งหมดโดยไม่มีการยกเว้น เพื่อให้สามารถติดตามและคาดการณ์ปริมาณแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกนำไปใช้ในประเทศได้
            
2) ควรมีการให้ขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าและติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อให้สะดวกต่อการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ถูกนำไปติดตั้งหรือรื้อถอน และสะดวกต่อการกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ไปสู่กลุ่มผู้นำเข้าและติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์
           
3) ควรให้มีการจัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการบริหารจัดการขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้ใช้ฐานข้อมูลเดียวกันเพื่อความสอดคล้องของผลที่ได้จากการนำข้อมูลไปใช้ และจัดให้มีหน่วยงานผู้ดูแลข้อมูล โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
            
4) ควรให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลลงทะเบียนผู้ที่ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแผงเซล์แสงอาทิตย์ระหว่างหน่วยงาน เพื่อความสะดวกในการติดตามการบริหารจัดการแผงเซลล์แสงอาทิตย์ การขออนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการแจ้งยกเลิกการดำเนินกิจการและการรื้อถอน
            
5) ให้มีการจัดตั้งศูนย์/กล่อง และหน่วยงานที่ทำหน้าที่รวบรวมกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร เพื่อคัดแยกและนำส่งโรงรีไซเคิลแผงเซลล์แสงอาทิตย์ หรือนำไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อไป ทั้งนี้อาจพิจารณาใช้งบประมาณจากภาครัฐเพื่อดำเนินการ

ระบบสารสนเทศ โครงการศึกษาศักยภาพเชิงพื้นที่ ในการบริหารจัดการกากขยะแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทย 
http://gis.dede.go.th:8080/gisenergy/projects-archive/solarcell/

promote: 
level: 
2