ผลกระทบของฝุ่นละออง PM2.5 กับการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์

โดยนางสาวสุปราณี  นาคดิลก  วิศวกรชำนาญการ
กองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
 

          ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทย เกิดปรากฏการณ์ฝุ่นปกคลุมอย่างหนาแน่น โดยแท้จริงแล้วปัญหา ผลกระทบจากฝุ่นได้เกิดขึ้นในทุก ๆ ต้นปี (เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน) และปลายปี (เดือนธันวาคม) ของทุกปี ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศยาวนานกว่า 10-15 ปีโดยจากการตรวจวัดแนวโน้มการเกิดฝุ่น PM2.5 ในช่วง พ.ศ. 2554 – 2561 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครสามารถแสดงได้ดังรูปที่ 1 (กรมควบคุม มลพิษ, 2562) และเมื่อปีพ.ศ. 2550 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองบริเวณภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติและในปี พ.ศ. 2562 ได้มีประกาศให้การแก้ปัญหาฝุ่นพิษนี้เป็นวาระแห่งชาติอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกัน เนื่องจากหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดขึ้นในปริมาณมากจนถึงขั้นวิกฤต ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อได้รับฝุ่นพิษเข้าไปกระตุ้นจะมีอาการกำเริบได้รวดเร็วขึ้นด้วย (ขนิษฐา, 2563)

          PM ย่อมาจาก Particulate Matter หรือฝุ่นละออง ที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ขนาดคือ PM2.5 หรือฝุ่นละเอียด (fine particle) มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตามพฤติกรรมการเคลื่อนที่ของฝุ่นในกระแสอากาศ (aerodynamic diameter) เล็กกว่า 2.5 ไมครอน PM 10 ซึ่งเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 10 ไมครอน และฝุ่นหยาบ (coarse particle) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 10 ไมครอน ถึง 25 ไมครอน (ขนิษฐา, 2563) โดยสามารถแสดงได้ดังรูปที่ 2 (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562)

ประเภทของการเกิดฝุ่นละอองในอากาศ (กระทรวงสาธารณสุข, 2558)
          1. ฝุ่นปฐมภูมิ (Primary Emission Particulate Matter) เกิดจากการปล่อยของแหล่งกำเนิดโดยตรง เช่น ฝุ่นจากถนน ฝุ่นเกลือจากทะเล ฝุ่นจากกระแสลม ที่พัดผ่าน ขี้เถ้า เขม่าควันไฟ
          2. ฝุ่นทุติยภูมิ (Secondary Emission Particulate Matter)
              เกิดจากปฏิกิริยาต่าง ๆ ในบรรยากาศหลังจากที่ฝุ่นถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดได้ระยะหนึ่ง ฝุ่นประเภทนี้อาจเป็นอนุภาคใหม่หรือเป็นอนุภาคเดิมที่มีองค์ประกอบเพิ่มขึ้น สารที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ ซัลเฟตไนเตรท และคาร์บอนอินทรีย์ โดยซัลเฟตและไนเตรทในบรรยากาศเกือบทั้งหมด เป็น Secondary Emission โดยมีก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์เป็นสารเริ่มต้นปฏิกิริยาของฝุ่นทุติยภูมิกล่าวคือ ก๊าซซัลเฟอร์ ไดออกไซด์ เมื่อถูกปล่อยสู่บรรยากาศจะถูกออกซิไดซ์เป็นกรดซัลฟูริก ทำให้เริ่มจับตัวเป็นฝุ่นขนาดเล็กจาก กระบวนการ Nucleation และเพิ่มขนาดเม็ดฝุ่นจากกระบวนการ Coagulation และ Condensation ปฏิกิริยาต่าง ๆ ทั้งในวัฏภาคก๊าซและในกลุ่มเมฆล้วนเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ซัลเฟตจับตัวเป็นเม็ดฝุ่นใหม ่ และยังมีส่วนทำให้สารอินทรีย์จับกันเป็นเม็ดฝุ่นใหม่ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับของการจับกันเป็นเม็ดฝุ่นใหม่ ได้แก่ ปริมาณของ Precursor สภาพบรรยากาศ และปฏิกริยาของ Precurser กับอนุภาคฝุ่นที่มีอยู่ในกลุ่มเมฆหรือละอองหมอก
              ทั้งนี้ แหล่งกำเนิดฝุ่นทุติยภูมิเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงทำให้เกิดฝุ่นควัน การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากโรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างการเผาขยะมูลฝอย และการเผาในที่โล่ง PM2.5 สามารถลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันถึงหลายสัปดาห์และลอยไปไกลจากแหล่งกำเนิดได้ถึง 100 – 1,000 กิโลเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับ ปัจจัยที่มีผลต่อระยะทางและเวลา ได้แก่ 1) ความเร็วลม 2) ความกดอากาศ 3) ความชื้น 4) สภาพอากาศ 5) แหล่งก าเนิดฝุ่นละออง และ 6) ขนาดของฝุ่น (ขนิษฐา, 2563)

ผลกระทบจากฝุ่นละอองต่อการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์
          การเกิดฝุ่นละอองในขนาดต่าง ๆ ส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ เช่น สภาพโดยรวมทั่วไป ด้านเศรษฐกิจ ด้านคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว มลพิษทางอากาศและปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ยังส่งผลกระทบถึงการเสียโอกาสในการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มีหลายปัจจัย เช่น การเสื่อมสภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ การบดบังเงา สภาพแวดล้อม และภูมิอากาศ เป็นต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกสถานที่คือ ฝุ่น ฝุ่นที่ตกสะสมอยู่บนผิวหน้า ของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทำให้การส่องผ่านของแสงลดลง ส่งผลกระทบต่อการลดลงของการผลิตไฟฟ้าของเซลล์แสงอาทิตย์ (นิพนธ์, 2555) นอกจากนี้แล้วปัจจัยที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มีความยั่งยืน มีหลายปัจจัย ได้แก่ ทำเลที่ตั้งโครงการ (Location) เทคโนโลยี (Technology) ความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพ (Professional Team) การจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำและมั่นคง (Secured Low Cost Funding) และนโยบายและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่องและชัดเจน (Government Policy) ในปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวนี้ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ ทำเลที่ตั้งโครงการ (Location) เนื่องจากประสิทธิภาพของการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นอยู่กับความเข้มรังสีแสงอาทิตย์ ดังนั้น ทำเลที่ตั้งของโครงการควรตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเข้มรังสีแสงอาทิตย์สูงตลอดทั้งปี เพื่อทำให้เกิดผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง (ปิติพีร์, 2560)
          ความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงานในการส่งพลังงานมาสู่ชั้นบรรยากาศของโลกเพื่อนำมาใช้ประโยชน์รังสีอาทิตย์ (solar radiation) ที่ตกกระทบพื้นผิวโลกในระหว่างการส่งผ่านตามชั้นบรรยากาศ จะถูกโมเลกุลของอากาศ ฝุ่นละออง (aerosol) เมฆดูดกลืนและกระเจิง โดยรังสีส่วนที่ตกกระทบพื้นผิวโลก จะเหลือเฉพาะรังสีอัลตราไวโอเลต แสงสว่าง และรังสีอินฟราเรด หรืออยู่ในช่วงความยาวคลื่น 0.3 –3.0 ไมโครเมตร โดยทั่วไปแล้วในชั้นบรรยากาศจะมีฝุ่นละออง จะถูกกระเจิงโดยโมเลกุลของอากาศขึ้นอยู่กับลักษณะของฝุ่น เช่น ฝุ่นละอองที่เกิดจากการสันดาปของเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งมีคาร์บอนดำ (black carbon) เป็นองค์ประกอบ จะดูดกลืนรังสีอาทิตย์ได้ถึง 20% ส่วนฝุ่นละอองจากทะเลทรายจะดูดกลืนรังสีอาทิตย์น้อยกว่า 5% อีกทั้ง รังสีอาทิตย์จะเปลี่ยนแปลงตามวัน เวลา ในรอบปีรวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ในบรรยากาศเช่น ปริมาณเมฆ ฝุ่นละออง โอโซน ไอน้ำ (วลัยพร, 2559)
          จากผลการศึกษาในประเทศจีน ได้ทำการเก็บข้อมูลจากสถานีตรวจวัดความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ จำนวน 119 แห่ง ทั่วประเทศจีน เก็บข้อมูลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ถึงปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) สามารถประเมินศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พบว่า ความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ลดลงตลอดระยะเวลา 55 ปีที่ผ่านมา สามารถยกตัวอย่างข้อมูลบางส่วนแสดงได้ดังรูปที่ 3 จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการผลิต ไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศจีนลดลงประมาณ 11-15% จากที่ควรจะผลิตได้เมื่อเทียบกับปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาฝุ่นละออง โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ พื้นที่ในเขตเมืองที่มีการผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่นหมอกควันรุนแรง (Chris, 2562)

          กองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เป็นหน่วยงานในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ในประเภทรังสีรวม (Total or Global Radiation) ซึ่งเป็นผลรวมของรังสีตรงและรังสีกระจายที่ตกกระทบผิวรับแสงในกรณีที่ผิวรับแสงเป็นพื้นเอียงผ่านโครงการพัฒนาเครือข่ายสถานีวัดความเข้มรังสีดวงอาทิตย์สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปีปัจจุบัน เพื่อให้ได้ข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ที่มีความละเอียดถูกต้อง และสามารถตอบสนองต่อความต้องการในด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทย ซึ่งมีสถานีวัดความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ จำนวน 38 สถานีกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย เพื่อเป็นตัวแทนทางสถิติของข้อมูล (กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, 2564)
          จากผลการตรวจวัดข้อมูลความเข้มรังสีดวงอาทิตย์โดยยกตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ สถานี ตรวจวัดศูนย์บริการวิชาการที่ 7 (จังหวัดเชียงใหม่) ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2552 – 2562 มีค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ เฉลี่ยที่ 16.89 MJ/m2 -Day โดยภาพรวมแล้วค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์รายปีมีค่าที่เปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจนมากนัก แต่จะพบว่าในปี พ.ศ. 2561 – 2562 มี แนวโน้มลดลงที่ค่าเฉลี่ย 15.42 MJ/m2 -Day ดังรูปที่ 4 และเมื่อพิจารณาปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยาตามช่วงฤดูกาล ค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน (ช่วงฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน) และเดือนตุลาคมถึง เดือนธันวาคม (ช่วงฤดูหนาว)จากการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 –2562 ดังรูปที่ 5 จะพบว่า ค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์มีค่าลดลงในเดือนมกราคมและเดือนธันวาคม โดยกล่าวได้ว่าฤดูกาลส่งผลต่อค่าความเข้มรังสีดวงอาทิตย์เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ปี พ.ศ. 2562 จังหวัดเชียงใหม่ เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกอยู่ที่ 212.10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สาเหตุของปัญหาเกิดจากสภาพอากาศแห้งจึงส่งผลทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย ทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (พม่า ลาว และกัมพูชา) อีกทั้งการเผาในที่โล่ง ได้แก่ การเผาไร่ ขยะ หรือ วัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรในช่วงฤดูกาลของเกษตรกร (ขนิษฐา, 2563) ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลความเข้มรังสี ดวงอาทิตย์ในช่วงปี พ.ศ. 2561 -2562 จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มลดลงตามสถานการณ์การเกิดฝุ่น PM 2.5 อย่างมีนัยสำคัญ

          จากการศึกษางานวิจัยของวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบของฝุ่นที่ตกสะสมบนแผงเซลล์แสงอาทิตย์เป็นผลโดยตรงต่อการผลิตไฟฟ้าของระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ภายใต้สภาวะอากาศจริงในช่วงเดือนมกราคม-เดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2555 โดยจากการศึกษาพบว่า ปริมาณฝุ่นในการเก็บข้อมูลในระยะเวลา 7  14  30  และ 60 วัน มีปริมาณฝุ่นเฉลี่ย 55  144  260  และ 426 มิลลิกรัมต่อตารางเมตรต่อวัน พบว่าการส่องผ่านแสงของฝุ่นที่สะสมบนกระจกนิรภัยเทมเปอร์ ปริมาณฝุ่นส่งผลให้การส่องผ่านแสงลดลง ทำให้กำลังไฟฟ้าสูงสุดลดลงโดยในระยะเวลา 60 วัน กำลังไฟฟ้าสูงสุดลดลงจาก 85.87 วัตต์ ลดลงเหลือ 82.67 วัตต์ ในระยะ 30 วัน ลดลงเหลือ 77.67 วัตต์ คิดเป็น 2.83% และ 6.03% ตามลำดับ (นิพนธ์, 2555)

แนวทางการแก้ไข
          การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุยังคงเป็นสิ่งจำเป็นของการดำเนินธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้การทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น วิธีการที่ง่ายที่สุดคือ การทำความสะอาด แผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจากการศึกษางานวิจัย พบว่า ค่าประสิทธิภาพของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้นเป็น 12% หากมีการทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างสม่ำเสมอ โดยผู้ศึกษาได้ทำการศึกษา วิธีการทำความสะอาดแผงเซลล์แสงอาทิตย์ด้วยน้ำร่วมกับเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ไม้ม็อปแบบยางรีดและการใช้น้ำราดบนแผง โดยไม่มีเครื่องมือสำหรับทำความสะอาด พบว่า การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงเป็นวิธีที่ใช้เวลาในการทำความสะอาดเร็วที่สุดเพียง 0.43 min/m2 แต่เมื่อพิจารณาถึงปริมาณการใช้น้ำจะพบว่า วิธีการใช้ไม้ม็อปแบบยางรีดจะใช้น้ำในการล้างน้อยที่สุดเท่ากับ 0.78 l/m2 ผลจากการศึกษางานวิจัยนี้สามารถนำไปใช้เป็นมาตรการด้านการบำรุงรักษาแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในระบบขนาดใหญ่เพื่อให้เกิดการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์ และสามารถแก้ปัญหาที่พบในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต่อไปได้ (เกตุวดี, 2561)
          ในสถานการณ์ที ่ฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนในปัจจุบัน ปัญหามลพิษทางอากาศส่งผลกระทบในทุกมิติทั้งด้านสังคม สุขภาพ เศรษฐกิจ รวมถึงลดศักยภาพการใช้ในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานสะอาดด้วยการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนจึงเป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐยังถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ตราบใดที่ยังมีการเผาผลาญ เชื้อเพลิง มีการใช้พลังงานต่าง ๆ อย่างเกินความจำเป็น ปัญหาฝุ่นละออง ก็ไม่สามารถหมดไปง่าย ๆ จึงมีแนวทางในการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในระยะยาว ดังนี้ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2562)
               1. เปลี่ยนน้ำมันรถยนต์จากมาตรฐานยูโร 4 เป็นยูโร 5 และยูโร 6 ในที่สุด และในสถานการณ์นี้ กระทรวงพลังงาน ได้มีการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20 เพื่อลดการปล่อย PM2.5 จากการปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์ซึ่งผลที่จะได้รับจากมาตรการดังกล่าว คือ B10 จะสามารถลด PM2.5 ได้ 3.5-13% สำหรับ B20 จะสามารถลดได้ 21-23%
               2. จัดทำผังเมืองบูรณาการ โดยการนำประเด็นการลดมลพิษทางอากาศเข้าในกระบวนการการจัดวางผังเมือง
               3. เปลี่ยนรถขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยการปรับเปลี่ยนรถขนส่งมวลชนทุกคันทั้งของภาครัฐ และเอกชน ให้เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
               4. ส่งเสริมการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ โดยจัดให้มีระบบ NMT (Non-Motorized Tran-sportation) ที่ใช้งานได้จริง อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมาใช้รถที่ไม่ใช้เครื่องยนต์
               5. จัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (Eco Tax) เก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อมตามหลักการ “ผู้ก่อมลพิษ เป็นผู้จ่าย” (Polluter Pays Principle หรือ PPP) ได้แก่ ค่าภาษีมลพิษ (Pollution Tax) ใบอนุญาตปล่อยมลพิษ (Pollution Permits)


เอกสารอ้างอิง
    กระทรวงสาธารณสุข. (2558). แนวทางการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงจากมลพิษทางอากาศ กรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก. 2558; 4
    กรมควบคุมมลพิษ. (2562). โครงการศึกษาแหล่งกำเนิดและแนวทางการจัดการฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล. 2562; 21
    กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน. (2563). ศักยภาพรังสีรวม (พลังงานแสงอาทิตย์จากการตรวจวัด) [ระบบออนไลน์].แหล่งที่มา www.dede.go.th/more_news.php?cid=126&filename=index. (18 มกราคม 2564)
    เกตุวดี เกตุวดี วงศ์ปน และคณะ. (2561). ผลของการทำความสะอาดโดยใช้น้ำที่มีต่อประสิทธิภาพของแผง เซลล์แสงอาทิตย์. การประชุมเชิงวิชาการ ครั้งที่ 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2561; 76-83 ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ และณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ. (2563). แหล่งกำเนิดผลกระทบและแนวทางจัดการฝุ่นละออง PM 2.5 บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย. 2563. Journal of the Association of Researchers Vol. 25 No. 1 January – April 2020; 461-473
    จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2562). เรียนรู้ อยู่กับฝุ่น PM 2.5. 2563; 1-17
    นิพนธ์ เกตุจ้อย และมรุพงศ์ กอนอยู่. (2555). การศึกษาผลกระทบของฝุ่นบนแผงเซลล์แสงอาทิตย์ต่อการผลิตไฟฟ้า.นิพนธ์ต้นฉบับ ปีที่ 31 ฉบับที่ 5 กันยายน-ตุลาคม.
    ปิติพีร์ รวมเมฆ. (2557). ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ยั่งยืน. วารสารนักบริหาร ปีที่ 34 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2557.
    วลัยพร กล่อมเกลี้ยง. (2559). การพัฒนาแบบจำลองสำหรับคำนวณความเข้มรังสีอาทิตย์จากส่วนต่าง ๆ ของท้องฟ้า ในสภาพท้องฟ้าปราศจากเมฆโดยคำนึงถึงผลของฝุ่นละออง. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2559), หน้า 12.
    Chris Ogden. ( 2 0 1 9 ) . Air pollution is blocking sunlight and damaging China’s solar potential. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา www.airqualitynews.com/2019/07/10/air-pollution-isblocking-sunlight-and-.... (15 มกราคม 2564)

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: 
promote: 
level: 
2