Bio-Circular-Green: New Opportunities in Thailand…from Buzz Words to Actions

บทความ เรื่อง Bio-Circular-Green:  New Opportunities in Thailand…from Buzz Words to Actions

ที่มาและความสำคัญของ BCG Model

สืบเนื่องจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ไทยได้แสดงเจตนาในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20%-25% ภายในปี ค.ศ. 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ Bio-Circular-Green Economy Model เป็นวาระแห่งชาติสำหรับการพัฒนาประเทศในปี ค.ศ. 2021-2026

การลงทุนภายใต้ BCG Model จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทย ในขณะเดียวกันก็ช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เนื่องจากในปัจจุบันลูกค้าและนักลงทุนทั่วโลกต่างคาดหวังให้บริษัทดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environment, Social, and Governance) มากยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจแบบ BCG คืออะไร?

BCG ประกอบด้วย เศรษฐกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่

- B ย่อมาจาก Bio-economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ คือ การนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาต่อยอดทรัพยากรชีวภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า 

- C ย่อมาจาก Circular economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ การให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรเพื่อใช้ทรัพยากรนั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การลดใช้ทรัพยากร การนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น

- G ย่อมาจาก Green economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว คือ การพัฒนาด้านเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อเราขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งสามด้านไปพร้อม ๆ กัน จะสามารถสร้างมูลค่าของทรัพยากรได้ทุกระดับตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงการบริโภคและการบริการขั้นสุดท้าย

การพัฒนา BCG ในไทย

รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบาย BCG ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 อุตสาหกรรม ได้แก่

1. อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร เป็นการสนับสนุนการสร้างมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารต่าง ๆ โดยการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

2. อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ เช่น การพัฒนายาและเวชภัณฑ์เพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการด้านการแพทย์และการวิจัยทางการแพทย์

3. อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ เช่น การใช้เทคโนโลยีแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งเป็นพลังงานชีวภาพ เป็นต้น

4. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เป็นระบบ

ผู้กำกับดูแล BCG

การทำให้ BCG ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบที่มีอยู่และกำหนดกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานและควบคุมคุณภาพของการดำเนินการตาม BCG ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานได้พยายามผลักดันให้ธุรกิจดำเนินการภายใต้ BCG เช่น องค์การอาหารและยาได้มีการพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับมาตรฐานบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อลดข้อจำกัดของธุรกิจที่เกี่ยวกับการรีไซเคิลพลาสติก กระทรวงพลังงานได้สนับสนุนให้จัดตั้งไฟฟ้าขยะชุมชนเพื่อแก้ปัญหาขยะมูลฝอยและนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการทำเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น

การผลักดันฺ BCG ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

BOI ได้กำหนดมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนธุรกิจในรูปแบบ BCG เพื่อดึงดูดภาคเอกชนในท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การลดภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ การอนุญาตให้บริษัทต่างชาติถือครองที่ดิน การจ้างงานชาวต่างชาติจำนวนมาก เป็นต้น  

ที่ผ่านมา BOI ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนในภาคการเกษตรเพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคการเกษตรมากขึ้น โดย BOI ได้เพิ่มประเภทกิจการด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ กิจการโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 ปี นอกจากนี้ BOI ยังได้ปรับปรุงขอบข่าย เงื่อนไข และสิทธิประโยชน์ของบางประเภทกิจการ เช่น กิจการอาหารสัตว์ กิจการห้องเย็น กิจการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกิจการ รวมทั้งให้มีการรักษาสิ่งแวดล้อม

สรุป

เศรษฐกิจแบบ BCG มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สังคมไทยสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การขับเคลื่อน BCG ให้มีประสิทธิภาพไม่ใช่มีเพียงแค่การปรับปรุงกฎหมายให้ดีเท่านั้น ยังต้องมีการสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุนจากรัฐบาล ภาคเอกชน และนักลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก ทรัพยากรมนุษย์ และเทคโนโลยีให้สามารถรองรับการขับเคลื่อน BCG ได้ เมื่อเราสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็จะนำแนวคิด BCG ไปดำเนินการ และประเทศไทยก็จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในที่สุด

อ้างอิง: PTIT FOCUS Vol.36 No.1 P.56 January – March 2022

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อห้องสมุด พพ.

 

promote: