“ชุมชนมีส่วนร่วม” KEY SUCCESS การพัฒนาพลังงานทาง (ต้อง) เลือก

 

“ชุมชนมีส่วนร่วม” KEY SUCCESS การพัฒนาพลังงานทาง (ต้อง) เลือก

 

ทุกวันนี้ เราจะเห็นกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นเส้นขนานกับวิถีชีวิตและการยอมรับจากชุมชนมากขึ้นทุกที มองในแง่ดี นี่ถือเป็นความเจริญเติบโตของระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนได้รู้จักปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง แต่ในหลายๆ กรณีความเจริญเติบโตของประชาธิปไตยมักจะทำให้ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดอาการชะงักงันเช่นกัน

ในความเป็นจริงแล้ว เส้นขนานที่เกิดขึ้นนี้มีโอกาสที่จะมาบรรจบกันได้ ผ่านการเปิดใจยอมรับฟังซึ่งกันและกันไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกันหมด แต่ขอให้มีจุดร่วมที่พร้อมจะพัฒนาไปด้วยกัน เหมือนกรณีศึกษาของหมู่บ้านพลังงานชีวภาพ Juehnde Village ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาพลังงานทดแทนแบบยั่งยืนเคียงคู่ไปกับคนในหมู่บ้านได้อย่างลงตัว

Juehnde Village (หมู่บ้านยีนห์เดอ) ได้รับคัดเลือกให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบในการดำเนินโครงการ “Bio-Energy Village” ของประเทศเยอรมนี มีเป้าหมายที่จะผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวภาพ แทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิม มีการบริหารจัดการในรูปแบบสหกรณ์ ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่นที่ทำให้ระบบยืดหยุ่นเปิดโอกาสให้คนในหมู่บ้านสามารถเข้าร่วมได้ภายหลังจากเขาได้ศึกษาข้อดีข้อด้อยของโครงการแล้ว การบริหารโครงการมีการจัดตั้งเป็นคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อดูแลโครงการอย่างครบวงจร อาทิ คณะทำงานโรงผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas Station) คณะทำงานโรงผลิตความร้อน (Heating Station) คณะทำงานด้านบริหารจัดการ ตลอดจนการประชาสัมพันธ์

ระยะเวลาที่ใช้นั้นริเริ่มโครงการตั้งแต่เดือนเมษายนปี พ.ศ. 2544 และรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ได้ในเดือนพฤษภาคม 2545 เสียค่าสมาชิกบ้านละ 1,500 ยูโร เพื่อมีสิทธิออกเสียงในการบริหารจัดการ และเป็นการลงทุนเพื่อให้บ้านของตนสามารถเชื่อต่อกับเครือข่ายท่อส่งความร้อนได้ (ซึ่งท่อส่งน้ำร้อนนี้มีความจำเป็นในประเทศแถบอากาศหนาวเย็น) โครงการยังได้รับการสนับสนุนอย่างดีด้านเงินลงทุนทั้งจากรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรของเยอรมนี รัฐบาลท้องถิ่นในเมือง Gottingen (เกิททิงเงน) และรัฐบาลมลรัฐ Lower Saxony ที่หมู่บ้านตั้งอยู่ โดยมีการประกันอัตรารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำที่หมู่บ้านผลิตได้ในรูปแบบ Fixed Feed-in Tariffs ด้วย

หมู่บ้านสามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมูลโค มูลสุกร และเศษวัสดุเหลือทิ้งพืชผลต่างๆ ในการผลิตพลังงานป้อนความต้องการของทั้งหมู่บ้าน โดยพลังงานความร้อนที่ผลิตได้ทั้งหมด 6,500 เมกะวัตต์ชั่วโมง/ปี ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อส่งขายเข้าระบบได้ 5,000 เมกะวัตต์ชั่วโมง/ปี สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 3,300 ตัน/ปี ทดแทนการใช้น้ำมันได้ 4 แสนลิตร/ปี และปัจจุบันหมู่บ้านกลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานที่สำคัญมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าชมงาน

หมู่บ้านยีนห์เดอ หากดูภายนอกแล้ว เป็นความสำเร็จของการพึ่งพาตนเองด้วยการลดการใช้พลังงานฟอสซิล คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ที่นับวันราคาจะยิ่งผันผวนมากขึ้น โดยหันมาใช้พลังงานหมุนเวียงจากมูลสัตว์ เศษวัสดุเหลือทิ้งของพืชผลต่างๆ ทางการเกษตร และวัตถุดิบจากป่าไม้ในท้องถิ่น ให้เกิดประโยชน์ผลิตเป็นพลังงานความร้อนและไฟฟ้าสำหรับใช้และสร้างรายได้ให้กับหมู่บ้านนาย Gerd Paffenholz ผู้ประสานงานหมู่บ้านยึนห์เดอขณะบรรยายสรุปโครงการ

แต่ความสำเร็จที่สำคัญยิ่งกว่ารูปธรรมที่เราเห็นนั่น คือ สิ่งที่เรียกว่า Spirit ของคนในหมู่บ้าน ที่เกิดจากควาเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมและเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น โดยริเริ่มที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และสร้างรายได้เข้าหมู่บ้านจากการขายไฟฟ้า ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นแนวความคิดในการผลิตพลังงานจากชีวภาพนี้จะมาจากมหาวิทยาลัย Gottingen ก็ตาม แต่ชาวบ้านก็ได้ประชุมหารือกันอยู่หลายครั้งกว่าจะเกิดการยอมรับและได้ข้อสรุปที่ลงตัว

นอกจากนี้ เรื่อง Attitude หรือทัศนคติ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่คนในชุมชนได้ปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสู่การเป็นผู้ผลิตด้านพลังงาน ประโยชน์ที่ได้แม้จะประเมินเป็นมูลค่าเม็ดเงินได้ยาก แต่จะเห็นผลได้ชัดเจนจากการประหยัดไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิงน้ำมันหรือก๊าซที่มีราคาแพง รวมถึงประโยชน์ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้นจากการไม่ต้องทนต่อกลิ่นรบกวนของมูลสัตว์ทำให้ชาวนาและผู้มีอาชีพเกี่ยวกับป่าไม้ในหมู่บ้านมีลูกค้ารับซื้อผลผลิตประจำ

ในด้านของการยอมรับนั้น ถึงแม้ว่าผู้เข้าร่วมกับโครงการจะมีสัดส่วน 75% ของคนในหมู่บ้านที่มีอยู่ราว 1,000 คน หรือมีจำนวนเข้าร่วมประมาณ 140 ครัวเรือน ก็ถือเป็นสัดส่วนที่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการได้แล้วไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมทั้ง 100%

นาย Gerd Paffenholz ผู้ประสานงานโครงการหมู่บ้านยีนห์เดอ กล่าวในประเด็นนี้ว่า “เป็นการยากที่จะดึงคนในหมู่บ้านให้เข้าร่วมได้ทั้งหมด เพราะบางครัวเรือนก็อยู่ในพื้นที่ชายขอบซึ่งไกลเกินไป หรือบางครัวเรือนก็ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเพราะมีระบบทำความร้อนรุ่นใหม่อยู่แล้ว แต่สัดส่วน 75% ก็ถือเป็นตัวเลขที่มากพอแล้วที่จะผลักดันโครงการได้” 

 

นายวีระพล  จิรประดิษฐกุล อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความสำเร็จของหมู่บ้านยีนห์เดอเป็นไปในลักษณะ win-win  ทุกคนได้ประโยชน์ และสำเร็จจากการมีผู้นำที่เข้มแข็งระดมคุยกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง จนสามารถตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นมา มีกำไรก็แบ่งกันตามส่วน ประกอบกับภาครัฐให้การส่งเสริมและสนับสนุนทั้งรัฐบาลส่วนกลางและท้องถิ่น อย่างไรก็ดี รูปแบบของการเป็นหมู่บ้านพลังงานชีวภาพนี้มีความคล้าคลึงกับบางหมู่บ้านของไทยที่ดำเนินการอยู่ แต่ยังเป็นขนาดเล็กไม่เต็มรูปแบบ ผอ.สนพ. กล่าวว่า “ไทยมีความพร้อมทั้งเทคโนโลยีการผลิต องค์ความรู้จากนักวิชาการ รูปแบบกฎหมายต่าง ๆ การสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม แต่ปัจจัยที่สำคัญนอกเหนือจากนี้คือ ชาวบ้านต้องรวมกลุ่มกัน มีหัวหน้าทีมที่ดีที่เข้าใจถึงประโยชน์ ทำให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาโครงการพลังงานอย่างยั่งยืน เหมือนกรณีของที่หมู่บ้านยีนห์เดอในเยอรมนีซึ่งก่อนหน้านี้การเลี้ยงวัวส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน แต่เมื่อสามารถนำมูลวัวไปผลิตก๊าซชีวภาพได้ นอกจากจะช่วยกำจัดกลิ่นแล้วชาวบ้านยังได้ปุ๋ยได้พลังงาน และยังช่วยสิ่งแวดล้อมในการลดการปล่อยก๊าซ  CO2 ได้อีกด้วย”  

โมเดลของหมู่บ้านยีนห์เดอเป็นความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ทั้งจากภาควิชาการของมหาวิทยาลัย ภาครัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และที่สำคัญคือ ภาคประชาชนในชุมชนที่ถือเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จที่สำคัญ เพราะเมื่อประชาชนในพื้นที่ยอมรับ มีการ่วมกันศึกษา ร่วมแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ก็จะเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของโครงการและนำมาซึ่งการพัฒนาแบบยั่งยืนในที่สุด

กรณีศึกษาของหมู่บ้านยีนห์เดอนี้จึงถือเป็นโมเดลสำคัญที่ทางภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานของไทยได้นำไปปรับใช้กับกระแสต่อต้านการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้า

 CCS ผ่าทางตันให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน

            อีกกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าจะเป็นทางออกให้กับการพัฒนาไฟฟ้าของไทยได้ นั่นคือ เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage : CCS ซึ่งบริษัท Vattenfall (วัทเทนฟอล) จากประเทศสวีเดนได้ทดลองดักจับก๊าซคาร์บอนจากไฟฟ้าลิกไนต์ขนาด 30 เมกะวัตต์ในประเทศเยอรมนีด้วยเทคโนโลยี CCS ซึ่งมีหลักการง่ายๆ คือ เป็นการดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกจากการผลิตไฟฟ้า ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมาจากการกระบวนการผลิตโรงไฟฟ้าแทบเป็นศูนย์ โดย CO2 ที่ได้นี้ส่วนใหญ่ประมาณ 80% จะขนส่งไปในรูปของเหลวเพื่อกักเก็บยังหลุมใต้ดิน ซึ่งเป็นหลุมก๊าซ หรือหลุมน้ำมันเก่าที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ส่วน CO2 อีกส่วนก็จะนำไปจำหน่ายต่อให้อุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียง วิธีการจะทำให้ CO2 ไม่ไหลไปสู่อากาศ

            ถึงแม้ว่า CCS จะเป็นเทคโนโลยีทางเลือกสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาเพื่อใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างโครงการของบริษัท วัทเทนฟอล ก็อยู่ระหว่างการทดลอง 5 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551-2556 และคาดว่าจะใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ในปี พ.ศ. 2563

            สำหรับการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้กับประเทศไทยนั้น ผอ.สนพ. กล่าวว่า ยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควรเพราะเทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในขั้นพัฒนากว่าจะใช้งานได้จริงอีกหลายปี อย่างไรก็ดี ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2010) จะมีเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยลดการปล่อย CO2 ลงได้มาก เช่นกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นศูนย์ และในแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปีของไทย (พ.ศ. 2551-2565) ก็มีแนวทางที่จะลดการปล่อย CO2 รวมถึงยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จะปล่อย CO2 เกือบเป็นศูนย์ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยจะลดการปล่อย CO2 ได้ 30-40% จากที่ปล่อย CO2 อยู่ในการผลิตไฟฟ้าปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าหนึ่งหน่วยปล่อย CO2 ประมาณ 0.5 กก.ต่อหนึ่งหน่วย ในแผน PDP จะลดให้เหลือประมาณ 0.38 กก.ต่อหนึ่งหน่วย

            “วิธีที่ถูกที่สุดและปฏิบัติได้เลยในขณะนี้คือ การส่งเสริมการจัดการด้านการใช้พลังงาน (DSM : Demand Side Management) ด้วยการประหยัดการใช้พลังงาน ประหยัดการใช้ไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมเรื่องของพลังงาน เพราะเทคโนโลยี CCS มีต้นทุนที่สูง และระบบก็ยังอยู่ระหว่างทดลองกว่าจะใช้ได้จริงเชิงพาณิชย์ก็อีกเป็น 10 ปีขึ้นไป” ผอ.สนพ. กล่าวในที่สุด

            เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้โครงการ CCS จะอยู่ในขั้นทดลอง แต่เจ้าของโครงการอย่าง บริษัท วัทเทนฟอล ก็ได้ให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องการยอมรับของประชาชนเพราะประชาชนในพื้นที่ซึ่งอยู่บริเวณแหล่งกักเก็บก๊าซ CO2 ไว้ใต้ดิน ก็มีความวิตกว่าจะเกิดการรั่วไหลของ ก๊าซฯ ขึ้นมาได้ ซึ่งในสังคมประชาธิปไตยไม่มีใครสามารถหมกเม็ดเรื่องต่างๆได้ ฉะนั้นสิ่งที่บริษัทฯ ต้องริเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้น คือ เริ่มใช้การพูดคุย (Dialogue) กับสาธารณชนให้เข้าใจเกี่ยวกับโครงการว่ามีความเสี่ยงต่ำ แต่ทั้งนี้การเลือกพูดคุยจะทำได้กับเฉพาะผู้ที่เปิดใจรับฟัง หารือกันบนเงื่อนไขที่เป็นเหตุเป็นผล โดยจะไม่พยายามพูดคุยกับผู้ที่ปิดรับไม่ฟังความคิดเห็นใดๆ เพราะคนกลุ่มนี้มีธงมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นแต่อย่างใด

            ด้วยกรอบวิธีและการบริหารจัดการเช่นนี้ น่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ที่จะมีโครงการลงทุนด้านพลังงานเข้าไปตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เกิดการถึงข้อมูล ไม่เกิดความกลัว และปฏิเสธโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ เหมือนที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ทุกวันนี้

การผลิตพลังงานของ Juehnde Village

            โรงพลังงานของหมู่บ้านประกอบด้วย 3 ส่วน หลักๆ คือโรงผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas Station) สำหรับการหมักมูลสัตว์และเศษซากเหลือทิ้งของพืชพลังงานต่างๆ โรงผลิตความร้อนซึ่งใช้เศษไม้ในท้องถิ่นเป็นเชื้อเพลิง และเครือข่ายท่อส่งความร้อนหรือน้ำร้อนที่เชื่อมต่อไปยัง 140 ครัวเรือน

            ก๊าซชีวภาพจะถูกแปรเป็นไฟฟ้าและความร้อน และมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น เศษไม้ เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตความร้อน ทั้งนี้เพื่อป้อนความต้องการพลังงานความร้อนที่สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว นอกจากนี้ มีการติดตั้งหม้อไอน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงไว้เป็นหน่วยผลิตสำรองหากจำเป็นต้องใช้ในกรณีที่โรงผลิตก๊าซชีวภาพหรือโรงผลิตความร้อนที่ใช้เศษไม้เป็นเชื้อเพลิงเกิดเหตุขัดข้อง

            เครือข่ายท่อส่งความร้อนนี้จะเชื่อมต่อโดยตรงกับระบบทำความร้อนภายในบ้านแต่ละหลัง และมีเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน (Heat Exchanger) ทำหน้าที่ผลิตน้ำร้อนสำหรับการอาบน้ำและห้องครัว ไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้จะถูกขายเข้าระบบไฟฟ้าสาธารณะของการไฟฟ้าท้องถิ่น โดยมรการประกันราคารับซื้อไฟฟ้าขั้นต่ำไว้ด้วย โรงผลิตพลังงานชีวภาพนี้ตั้งอยู่ชายเขตของหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเขตบ้านที่อยู่อาศัย

            ในการผลิตก๊าซชีวภาพ มีการใช้เศษเหลือทิ้งของพืช และหญ้า และมูลโคและสุกรในรูปของเหลว จากฟาร์มปศุสัตว์ พืชหลากหลายชนิดและแม้แต่วัชพืชก็ถูกนำมาใช้สำหรับการผลิตชีวมวล มีการปลูกพืชร่วมหรือสลับ เพื่อรักษาคุณประโยชน์จากระบบนิเวศน์ในการเกษตรการปลูกพืชผลหลายชนิดเช่นนี้ยังเป็นการบำรุงดิน และเนื่องจากพืชที่ปลูกมีระยะรอบการเก็บเกี่ยวที่ค่อนข้างเร็วจึงช่วยลดการใช้ปุ๋ยได้ราว 25% และลดการใช้ยาฆ่าแมลงลงได้ 1 ใน 3 ส่วนการใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนส่วนที่เกินความต้องการในช่วงฤดูร้อน มีการสร้างที่อบแห้งเพื่อเพิ่มค่าความร้อนให้กับเศษไม้สดอีกด้วย

ไฟล์/vdo/ข้อมูล ที่เกี่ยวข้อง: