Environmental flow as a criterion for evaluating the potential of small hydro schemes

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการผลิตพลังงานต้นทุนต่ำ คุณลักษณะท้องถิ่นและการออกแบบที่แตกต่างกันของแต่ละโรงไฟฟ้ามีส่วนช่วยให้เกิดความยั่งยืน โดยส่วนใหญ่จะใช้ธารน้ำไหลตามธรรมชาติ ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อลำน้ำและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กส่วนมากนั้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบท มีลักษณะเป็นภูเขา มีลำธารไหลผ่าน ทำให้เหมาะที่จะตั้งโรงไฟฟ้าที่มีโครงข่ายไฟฟ้าในท้องถิ่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดด้านข้อมูลทางชลศาสตร์ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการคำนวณปริมาณน้ำที่มีอยู่และการคำนวณศักยภาพการผลิตไฟฟ้าตามพื้นที่ต่างๆ ตลอดจนความยากลำบากในการสร้างชลนิเวศ (environmental flows) ตามมาตรฐาน

ในปฏิญญาบริสเบนในปี 2550 (the Brisbane Declaration 2007) ได้กล่าวถึงแนวคิดชลนิเวศหรือการไหลเวียนน้ำเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปกป้องและฟื้นฟูการไหลเวียนของน้ำ การลดการกระจายตัวของกระบวนการทางชลศาสตร์ รวมถึงการรักษาระบบนิเวศทางน้ำ ดังนั้น หากต้องการดำเนินการตามปฏิญญา จำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการผลิตไฟฟ้าและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

สำหรับประเทศเม็กซิโก แม้ว่าตั้งแต่ปี 2557 จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้สำหรับการทำเหมืองและอุตสาหกรรม แต่การปฏิรูปกิจการไฟฟ้าครั้งล่าสุด ทำให้การก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจาก รัฐบาลได้กำหนดให้โครงการโรงไฟฟ้าที่มีพื้นที่เก็บน้ำหรือมีการปรับเปลี่ยนทางชลศาสตร์ที่มีนัยสำคัญต้องจัดทำประมาณการด้านชลนิเวศเสนอต่อคณะกรรมการน้ำแห่งชาติและกระทรวงสิ่งแวดล้อม ยกเว้นโครงการที่มีกำลังการผลิตติดตั้งสูงสุด 30 เมกะวัตต์และมีแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กกว่า 1*10^6 m^3 ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง ทั้งนี้ การกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยในการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ  

โดยปัจจุบันได้มีการศึกษาลุ่มน้ำ Rio Verde Oaxaca ในประเทศ เพื่อทบทวนระบบการไหลของน้ำและกำหนดเกณฑ์กำลังการผลิตไฟฟ้าตาม duration curve ซึ่งเป็นแนวทางในการเลือกพื้นที่ การออกแบบโครงการ และการเลือกอุปกรณ์ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการผลิตไฟฟ้าโดยไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

 

ที่มา: The international journal on hydropower & dams Vol. 29, Issue 6,2022 P. 53-59

https://kc.dede.go.th/knowledge-view.aspx?p=319

 

 

promote: 
level: 
2