ฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยประจำปีเพาะปลูก พ.ศ. 2556

ฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยประจำปีเพาะปลูก  พ.ศ.2556 

1.วัตถุประสงค์

           ชีวมวล (Biomass) เป็นแหล่งกักเก็บพลังงานของพืชที่ต้องอาศัยแสงอาทิตย์ในการสังเคราะห์แสงและเจริญเติบโต จากนั้นแปรเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็งหรือแปรสภาพเป็นของเหลวที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิลได้จัดเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่สำคัญชนิดหนึ่ง

          ชีวมวลที่นำมาใช้เป็นพลังงาน  มีแหล่งที่มาได้ 2 แหล่งคือ เศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานได้และจากการปลูกพืชเพื่อนำมาใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานโดยเฉพาะ

          โครงการศึกษา พัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยในครั้งนี้ จะนำเสนอเฉพาะในส่วนของระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลจากเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรที่สามารถนำมาใช้เชื้อเพลิงได้ โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการคือ

          1. ศึกษา รวบรวมข้อมูลชีวมวลที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ได้แก่ ข้อมูลปริมาณที่เกิดขึ้น  การนำไปใช้ประโยชน์และปริมาณคงเหลือในแต่ละปี

          2. พัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่เป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวหรือจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร  โดยนำเสนอฐานข้อมูลในรูปแบบศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลทุกชนิดที่มีอยู่ในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคและทั่วทั้งประเทศ ด้วยเทคโนโลยีของแผนที่เชิงภูมิสารสนเทศ ( GIS)

2.เป้าหมาย

          การจัดทำระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยในครั้งนี้ มีเป้าหมายที่สำคัญคือ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ นักลงทุน นักวิจัยที่เกี่ยวข้องหรือสนใจด้านพลังงานชีวมวลใช้สำหรับศึกษาข้อมูลเบื้องต้นถึงศักยภาพชีวมวลที่เหลืออยู่ ( Residue Potential) ในแต่ละพื้นที่ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำนโยบายส่งเสริมสนับสนุน ลงทุนหรือศึกษาวิจัย อย่างไรก็ดีหากมีการตัดสินใจที่จะดำเนินการใดๆ จะต้องทำการศึกษาข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่สามารถรวบรวมมาใช้ได้จริง ( Real  Potential) อย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ก่อนการตัดสินใจ

3.ประเภทพืชและชนิดของชีวมวลที่ทำการศึกษา

          ระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยที่พัฒนาและจัดทำขึ้นนี้   แสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่เกิดขึ้นในพื้นที่เก็บเกี่ยวภายหลังการเก็บเกี่ยวหรือโค่นต้นได้แก่  1.ฟางข้าว  2.ใบและยอดอ้อย  3.เหง้ามันสำปะหลัง  4.ยอดใบและลำต้นข้าวโพด  5.ใบและทางปาล์ม  6.ยอดใบและลำต้นถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง  7.จั่นและทะลายมะพร้าว  8. ทางและใบมะพร้าว  9.ลำต้นปาล์มน้ำมัน  10. ปลายไม้ยางพารา  11.ตอ รากและกิ่งก้านไม้ยางพารา      

           และข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมภายหลังการแปรรูป ได้แก่  12.แกลบ  13.ชานอ้อย  14.ซังข้าวโพด  15.เปลือกมันสำปะหลัง  16.กากมันสำปะหลัง  17.ทะลายปาล์มเปล่า  18.เส้นใยปาล์ม  19.กะลาปาล์ม  20.ปีกไม้ยางพารา  21.ขี้เลื่อยและเศษไม้ยางพารา  22.เปลือก กาบและกะลามะพร้าว  23.เปลือกมะม่วงหิมพานต์

4.แนวทาง ขั้นตอนและข้อมูลที่ใช้ในการประเมินศักยภาพชีวมวล

          การศึกษา รวบรวมเพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยในครั้งนี้ มีแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ 2 ขั้นตอน (1.) การศึกษา รวบรวมข้อมูลปริมาณการเกิด การนำไปใช้ประโยชน์และปริมาณคงเหลือของชีวมวลแต่ละชนิดและ (2.) การจัดทำระบบฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวล 

5.การประเมินปริมาณการเกิดชีวมวล

มีขั้นตอนการดำเนินการและข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน  ประกอบด้วย 

          1. รวบรวม ศึกษาปฎิทินการปลูก การเก็บเกี่ยวพืชที่เกิดชีวมวลภายหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูป พร้อมทั้งจำนวนพื้นที่ปลูก (ไร่/ปี) อัตราผลผลิต (ตัน/ไร่) และปริมาณผลผลิต (ตัน/ปี) ในแต่ละอำเภอ/จังหวัดทั่วประเทศจากรายงานประจำปีของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย 1. ข้าวนาปี 2. ข้าวนาปรัง 3. อ้อยโรงงาน 4.มันสำปะหลัง 5.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6.ปาล์มน้ำมัน 7.ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง 8.มะพร้าว 9.มะม่วงหิมพานต์

          2. รวบรวมพื้นที่โค่นต้นยางพารา(ไร่/ปี) และพื้นที่โค่นต้นปาล์มในแต่ละอำเภอ/จังหวัดทั่วประเทศจากรายงานประจำปีของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          3. รวบรวม ศึกษาข้อมูลสัดส่วนการเกิดชีวมวลต่อปริมาณผลิต ได้แก่

ตารางแสดงสัดส่วนการเกิดชีวมวลต่อปริมาณผลผลิตที่ใช้ประเมินปริมาณการเกิดชีวมวลแต่ละชนิด

          4. การประเมินปริมาณการเกิดชีวมวลแต่ละชนิดในทุกอำเภอ ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ดังสมการ

                              ปริมาณชีวมวลที่เกิด (ตัน/ปี)  =  ปริมาณผลผลิต  (ตัน/ปี)  x  สัดส่วนชีวมวลต่อปริมาณผลผลิต (ตันชีวมวล/ตันผลผลิต)

                              ปริมาณชีวมวลที่เกิด (ตัน/ปี)  =  ปริมาณพื้นที่โค่น  (ไร่/ปี)  x  สัดส่วนชีวมวลต่อพื้นที่โค่น (ตันชีวมวล/ไร่)

          5. ศึกษา รวบรวมข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นแหล่งกำเนิดชีวมวลแต่ละชนิดในแต่ละอำเภอ/จังหวัดทั่วประเทศจากฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม  ได้แก่ โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล  โรงสีข้าวโพด โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา  โรงงานแปรรูปมะพร้าว โรงงานแปรรูปเม็ดมะม่วงหิมพานต์  และอื่นๆ

          6. ประเมินปริมาณชีวมวลทุกชนิดที่เกิดขึ้นในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัด

          7. สุ่มสำรวจปริมาณการเกิดชีวมวลแต่ละชนิดเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการประเมินการเกิดชีวมวลแต่ละชนิด  ทั้งชีวมวลที่เกิดขึ้นในพื้นที่เก็บเกี่ยวภายหลังการเก็บเกี่ยวและชีวมวลที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

6.การประเมินปริมาณการใช้ชีวมวลแต่ละชนิด

มีขั้นตอนการดำเนินการและข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน  ประกอบด้วย 

          1. ศึกษา รวบรวม ข้อมูลแนวทางและความเป็นไปได้ในการนำชีวมวลแต่ละชนิดไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ    ได้แก่  การนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า  การนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานความร้อน   การนำไปใช้ในภาคปศุสัตว์  ภาคเกษตรและอื่นๆ

          2. ศึกษา รวบรวมข้อมูลโรงไฟฟ้าที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าและ/หรือความร้อนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กระทรวงพลังงานและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  

          3.ศึกษา รวบรวมข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตความร้อนและ/หรือพลังงานไฟฟ้า จากฐานข้อมูลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้หม้อน้ำ  หม้อน้ำมันร้อน  เตาเผาและเตาอบ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

          4. ศึกษา รวบรวมข้อมูลการนำชีวมวลแต่ละชนิดไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่นในภาคปศุสัตว์   ใช้สำหรับเลี้ยงสัตว์  ในภาคเกษตรใช้คลุมดิน เป็นต้น

          5. ประเมินปริมาณชีวมวลทุกชนิดที่มีการนำไปใช้ประโยชน์แล้ว ได้แก่การนำไปใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าและผลิตพลังงานความร้อน  ใช้เลี้ยงสัตว์  ใช้คลุมดิน และอื่นๆ  โดยทำการประเมินในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัดทั่วประเทศ

          6. สุ่มสำรวจปริมาณการใช้ชีวมวลต่ละชนิดในโรงไฟฟ้า  โรงงานอุตสาหกรรม  ภาคปศุศัตว์ ภาคเกษตร  เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการประเมินการใช้ชีวมวลแต่ละชนิด

7.การประเมินปริมาณคงเหลือและศักยภาพพลังงานของชีวมวลแต่ละชนิด

มีขั้นตอนการดำเนินการและข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน  ประกอบด้วย 

          1. การประเมินปริมาณคงเหลือของชีวมวลแต่ละชนิดในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ดังสมการ

                                        ปริมาณคงเหลือของชีวมวลแต่ละชนิด  =   ปริมาณที่เกิด  –  (ปริมาณที่นำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า  +   

                                                                                     ปริมาณที่นำไปใช้สำหรับผลิตความร้อน  +  ปริมาณที่นำไปใช้ในภาคส่วนอื่นๆ) 

          2.ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินศักยภาพพลังงานของชีวมวลของชีวมวลแต่ละชนิด  ประกอบด้วย 

                    2.1 ค่าความร้อนของชีวมวลแต่ละชนิด

ตารางแสดงค่าความร้อนและความชื้นของเชื้อเพลิงที่ใช้ประเมินศักยภาพแต่ละชนิด

                    2.2 ค่าความร้อนเทียบเท่าพันตันน้ำมันดิบ

                                        1  ktoe   =  42,120,000 MJ   =    11,700,000 k-Wh

                    2.3 กำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า (MW) 

                                        เงื่อนไขคือโรงไฟฟ้าเดินเครื่อง 24 ชม./วัน 330 วัน/ปี  ที่ประสิทธิภาพโรงไฟฟ้า 20 %

8.ผลการประเมินศักยภาพพลังงานชีวมวลแต่ละชนิด

ตารางแสดงผลการประเมินศักยภาพชีวมวลแต่ละชนิด

                                                     หมายเหตุ    ข้อมูลของปีการเพาะปลูก  พ.ศ. 2556

9.ตัวอย่างการใช้งานฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวล

          ภายหลังการดำเนินการศึกษา รวบรวม  ประเมินและสำรวจปริมาณการเกิด การนำไปใช้ประโยชน์แล้วและปริมาณคงเหลือของชีวมวลทั้ง 23 ชนิด ในทุกอำเภอทุกจังหวัดเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลศักยภาพชีวมวลดังกล่าวจะถูกนำเข้าฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่พัฒนาและจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอเผยแพร่ในเวบไซต์ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) โดยขั้นตอนการใช้งานฐานข้อมูลมีดังต่อไปนี้คือ

                    1. เข้าเวบไซต์กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน   WWW.dede.go.th ซึ่งหน้าเวปจะแสดงดังรูป

                    2. จากหน้าเวป พพ. คลิกที่ศักยภาพพลังงานทดแทน หน้าเวบจะแสดง ดังรูป

                    3. เมื่อคลิกที่ศักยภาพพลังงานชีวมวล หน้าเวบจะแสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลระดับประเทศและแต่ละภูมิภาค ดังรูป

                    4. เมื่อคลิกที่ Thailand จะแสดงข้อมูลรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิด ประจำปีเพาะปลูก 2556

                    ในขณะที่ถ้าคลิกที่ภูมิภาคใดๆ ก็จะเป็นรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิดของภาคนั้นๆ ประจำปีเพาะปลูก 2556

                    5. เมื่อคลิกที่  box ขวามือจะแสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลของแต่ละจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ดังรูปตัวอย่าง

                    6. เมื่อคลิกที่จังหวัดใดจะแสดงข้อมูลรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิด ณ จังหวัดนั้น ๆ ประจำปีเพาะปลูก 2556

                    7. เมื่อคลิกที่  box ขวามือของจังหวัดใดๆ ก็จะแสดงข้อมูลศักยภาพชีวมวลของแต่ละอำเภอในแต่ละจังหวัด ดังรูปตัวอย่าง

                    8. เมื่อคลิกที่อำเภอใดจะแสดงข้อมูลรายละเอียดชีวมวลแต่ละชนิด ณ อำเภอนั้น ๆ ประจำปีเพาะปลูก 2556

10.สรุป

                    กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) คาดหวังว่า ฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยที่ได้พัฒนาและจัดทำขึ้นครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงานของประเทศ  ทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ นักลงทุนภาคเอกชน  นักวิชาการหรือนักวิจัย นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป  สำหรับใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ต่อไป

                    อย่างไรก็ดี   ข้อมูลศักยภาพชีวมวลที่นำเสนอเป็นข้อมูลศักยภาพที่รวบรวมปริมาณชีวมวลทุกชนิดที่คงเหลืออยู่  ( Residue Potential)  ในแต่ละอำเภอของแต่ละจังหวัด  ซึ่งเป็นข้อมูลจากการประเมินและสุ่มสำรวจเท่านั้น    ข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์สำหรับพิจารณาประกอบการตัดสินใจถึงความเป็นไปได้ (Feasibility) ในการดำเนินโครงการในเบื้องต้น  อาทิเช่น การพิจารณาว่าในอำเภอใด จังหวัดใดหรือภูมิภาคใดมีชีวมวลชนิดไหนบ้างที่คงเหลืออยู่และเหลืออยู่เท่าไร   มีศักยภาพเพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นพลังงานได้หรือไม่   ซึ่งคาดว่าจะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐในการพิจารณาจัดทำนโยบายส่งเสริมสนับสนุนการนำชีวมวลมาใช้เป็นพลังงานทดแทน  เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนในแง่ของการพิจารณาตัดสินใจลงทุนและเป็นประโยชฯต่อนักวิชาการ/นักวิจัยที่จะใช้สำหรับพิจารณาศึกษาวิจัยต่อยอด เป็นต้น  ตัวอย่างเช่น  หากพิจารณาชีวมวลที่มีปริมาณคงเหลือและมีศักยภาพมากที่สุดในประเทศไทยคือใบและยอดอ้อย 1,647 MW  โดยจังหวัดที่มีปริมาณคงเหลือและศักยภาพสูงสุดคือจังหวัดนครสววรค์รวม 137.6  MW  โดยอำเภอที่มีปริมาณคงเหลือและศัยภาพสูงสุด 3  อำเภอแรกคือ พยุหะคีรี   ตาคลีและตากฟ้า  34.46 MW   29.32 MW และ 26.33 MW เรียงตามลำดับ แต่หากประสงค์ที่จะดำเนินโครงการหรือลงทุนนำใบและยอดอ้อยมาใช้เป็นพลังงานทดแทน  ต้องทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม อาทิเช่น  ปริมาณใบและยอดอ้อยที่ที่เหลืออยู่จริงที่ไม่ได้ถูกเผาไฟก่อนตัดส่งโรงงานน้ำตาล   ปริมาณที่สามารถรวบรวมนำมาใช้ได้จริง   เป็นต้น   เพื่อให้ได้ข้อมูลปริมาณและศักยภาพที่แท้จริง (Real  Potential) ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างจริงจัง   และชีวมวลชนิดอื่นๆ ก็ต้องศึกษาปริมาณและศักยที่แท้จริงเช่นเดียวกัน

                    ในอนาคต พพ. จะพยายามพัฒนาฐานข้อมูลศักยภาพชีวมวลในประเทศไทยนี้ให้มีความทันสมัย  พร้อมทั้งปรับปรุงข้อมูลศักยภาพชีวมวลให้เป็นปัจจุบันเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามตามวิสัยทัศน์ของ พพ.  คือ “เป็นองค์กรฐานความรู้ (Knowledge Base) และศูนย์กลางในการผลักดันพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน” ต่อไป

 

 

 

 

promote: 
level: 
2